จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในรอบ 75 ปี ที่ถล่มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยปริมาณฝนที่ตกในวันเดียวสูงกว่าปริมาณฝนที่ตกรวมกัน 2 ปี ส่งผลให้น้ำท่วมทางหลวงสายหลักการสัญจรทั้งทางบก ทางอากาศ ต้องกลายเป็นอัมพาต
ข่าวน้ำท่วมจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในดูไบ ได้สร้างความตื่นตกใจให้แก่ผู้คนที่ติดตามข่าวสาร เนื่องจากไม่คาดคิดว่าเมืองทะเลทรายอย่างดูไบจะถูกน้ำท่วมจนเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างแบบนี้ได้
จากเหตุการณ์ดังกล่าวหลายฝ่ายต่างมองหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศเช่นนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญมีการตั้งข้อสังเกตว่าปริมาณฝนที่มากผิดปกตินี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการ “Cloud Seeding” หรือ “การเพาะเมฆ” หรือไม่? เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตั้งอยู่บนภูมิภาคที่ร้อนที่สุด และแห้งแล้งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำให้ต้องใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพิ่มปริมาณฝน
Cloud Seeding คืออะไร
“Cloud Seeding” หรือ “การเพาะเมฆ” คือเทคนิคเร่งให้เกิดฝนตก โดยจุดมุ่งหมายหลักก็คือการทำให้เกิดฝนตกในภูมิภาคที่มีสภาพแห้งแล้ง เพื่อช่วยด้านการเกษตร สภาพแวดล้อม และการบริหารจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ
เป็นกลยุทธ์การปรับเปลี่ยนสภาพอากาศที่มีมานานหลายทศวรรษ โดยเทคโนโลยี Cloud Seeding นี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกใช้กันอย่างแพร่หลาย กระบวนการนี้สามารถทำได้จากภาคพื้นดิน โดยใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือด้วยเครื่องบินโดยการปล่อยสารเคมี เช่น ซิลเวอร์ไอโอไดด์ หรือ เกลือเข้าไปในเมฆเพื่อกระตุ้นการควบแน่นและกระตุ้นให้เกิดฝนตก
นักพยากรณ์อากาศจะตรวจสอบสภาพบรรยากาศและระบุเมฆที่เหมาะสมตามรูปแบบการตกตะกอน เทคนิคนี้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำฝนได้มากถึงร้อยละ 30-35% ในบรรยากาศปลอดโปร่ง และมากถึง 10-15% ในบรรยากาศที่มีความชื้นมากขึ้น แต่แนวทางนี้ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นการยากที่จะคาดการณ์ผลกระทบทั่วโลกในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม การเพาะเมฆจะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ ประกอบกัน ทั้งความชื้นในเมฆ และรูปแบบของลมที่เหมาะสม
Cloud Seeding เป็นสาเหตุของน้ำท่วมใหญ่ในดูไบหรือไม่?
เนื่องจากการเพาะเมฆ หรือการทำฝนเทียม เป็นกระบวนการที่จะทำให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้นได้หลายคนจึงตั้งคำถามว่า Cloud Seeding เป็นสาเหตุของน้ำท่วมใหญ่ได้หรือไม่? ผู้เชี่ยวชาญอย่าง เจฟฟ์ มาสเตอร์ส นักอุตุนิยมวิทยาของ Yale Climate Connections ได้กล่าวว่า น้ำท่วมในดูไบเกิดจากระบบความกดอากาศต่ำที่รุนแรงผิดปกติ ซึ่งทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองหนักหลายรอบ ไม่เกี่ยวกับ Cloud Seeding แต่อย่างใด
คอลิน แม็กคาร์ธี นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ อธิบายว่า ฝนที่ตกหนักขนาดนี้มีสาเหตุมาจากพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงหลายรอบที่ก่อตัวจากน้ำอุ่นของอ่าวเปอร์เซีย
นักอุตุนิยมวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศบางคนชี้ให้เห็นว่า การทำฝนเทียม (cloud seeding) อาจทำให้ฝนตกหนักในเมืองทะเลทรายแห่งนี้
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ ชี้ว่าสาเหตุของฝน มากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี ฟรีเดอริก อ็อตโต นักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ “ฝนที่สร้างความเสียหายและทำลายล้างในโอมานและดูไบจะหนักขึ้นอีก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์”
ขอบคุณข้อมูลจาก
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews