ผู้แทนการค้า หารือทูตภูฏาน ปลื้มความสัมพันธ์ใกล้ชิด ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา สาธารณสุข ท่องเที่ยว เผยไทยพร้อมเข้าร่วมการประชุม JTC ไทย-ภูฏาน
นางนลินี ทวีสิน หารือทูตภูฏาน ปลื้มความสัมพันธ์ใกล้ชิดในทุกระดับ หารือการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา สาธารณสุข และท่องเที่ยว ชูแนวคิด “2 ราชอาณาจักร 1 จุดหมายปลายทาง” เผยไทยพร้อมเข้าร่วมการประชุม JTC ไทย-ภูฏานที่ภูฏานเป็นเจ้าภาพกลางเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อประกาศเปิดเจรจาจัดทำความตกลง FTA ไทย-ภูฏาน
โดยนางนลินี เปิดเผยหลังจากการหารือร่วมกับนายคินซัง ดอร์จิ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรภูฏานประจำประเทศไทย ว่า ตนและท่านทูตต่างเห็นพ้องว่าไทยและภูฏานมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับราชวงศ์จนถึงประชาชน โดยเมื่อมองไปข้างหน้า ไทยและภูฏานยังมีโอกาสอีกมากในการส่งเสริมความร่วมมือในอีกหลายมิติ อาทิ การศึกษา สาธารณสุข และการท่องเที่ยว ที่จะมุ่งเน้นไปที่การจัดทำรายการนำเที่ยว
ภายใต้แนวคิด “2 ราชอาณาจักร 1 จุดหมายปลายทาง” (Two Kingdoms One Destination) ซึ่งจะเน้นการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมวิถีชีวิตเรื่องอาหารและการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกมายังสองประเทศ ซึ่งในแง่การส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า ตนได้แจ้งฝ่ายภูฏานถึงความพร้อมของฝ่ายไทยในการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย – ภูฏาน (ระดับรัฐมนตรี) ครั้งที่ 5 ในช่วงกลางเดือนพ.ค.67
ซึ่งทางภูฏานมีกำหนดเป็นเจ้าภาพ โดยเวที JTC จะเป็นกลไกหารือสำคัญด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยและภูฏานที่สำคัญระหว่างสองประเทศ และการประชุม JTC ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 5 จะเป็นการประชุมครั้งสำคัญ เพื่อประกาศเปิดเจรจาจัดทำความตกลง FTA ไทย-ภูฏาน รวมทั้งจะเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะติดตามและแสวงหาแนวทางในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน
นอกจากนี้ ตนและท่านทูตยังได้หารือถึงโอกาสและช่องทางการนำเข้าสินค้าออร์แกนิคจากภูฏานสู่ตลาดไทย เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ปลาเทราต์ และเห็ดแชนเทอเรลรวมถึงหารือถึงการส่งเสริมการเชื่อมโยงทางถนนระหว่างไทยและภูฏาน
เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยว ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 7 วัน เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีเที่ยวบินระหว่างไทยและภูฏานสองเที่ยวบินต่อวัน
ทั้งนี้ภูฏานมีศักยภาพที่จะเป็นตลาดรองรับสินค้าของไทยในระยะยาวได้ เนื่องจากภูฏานมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ภูฏานหลุดพ้นจากสถานะเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ (UN) และเดินหน้าเข้าสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนาอย่างเป็นทางการ ประกอบกับภูฏานเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าเป็นหลักและสินค้าของไทยเป็นที่นิยมของชาวภูฏาน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews