กมธ.มั่นคงเชิญผู้เกี่ยวข้องชี้แจงผลกระทบสู้รบเมียนมา ยันรับฟังรอบด้าน พร้อมหนุนสนับสนุนบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ
นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า วันนี้ ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เช่น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ , เลขา สมช. , ผบ.ทสส , ผบ.ทบ.และตัวแทนภาคประชาสังคม ประชุมประเด็นปัญหาผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมา (เมียวดี) ว่า เรื่องแรกคือ เรื่องของการสอบถามความคืบหน้าเนื่องจากว่าหน่วยงาน
ทั้งหมดที่เชิญมาเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการหามาตรการรองรับ ในกรณีที่มีผู้หนีภัยสู้รบข้ามมา การเตรียมรับมือปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะลุกลามบานปลาย และสอบถามว่าประเทศไทยมีบทบาทอย่างไรที่จะเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมียนมาหรือไม่ รวมไปถึง การพูดคุยกันว่าในอนาคตจะมีหนทางไหนที่ประเทศไทยอาจจะเป็นตัวกลางที่สำคัญในการนำมาซึ่งสันติภาพในเมียนมาได้ นี่จะต้องเป็นสิ่งที่ต้องคิดอีกยาวไกล โดยทางกรรมาธิการนอกจากจะซักถามข้อมูลแล้วก็จะมีการให้ความเห็นของกรรมาธิการต่อไป
ทั้งนี้ กมธ. ทำเรื่องเมียนมามานานพอสมควร ไม่ได้พึ่งมาประชุมในวันนี้ และมีการพูดคุยกันมาตั้งแต่การเชิญกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมามาร่วมสัมมนาพูดคุยกันด้วยซ้ำ เพื่อให้เกิดมุมมองที่มากไปกว่าที่กระทรวงการต่างประเทศพูดคุยกับทางการทูตและรัฐบาลทหารของเมียนมาเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นประโยชน์ที่เราสามารถต่อยอดมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้
ส่วนการประชุมวันนี้ ก็คงจะรับฟังอย่ารอบด้านและมีความเห็นต่อไปว่า หากต้องการจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ประเทศไทยต้องวางตัวอย่างไร เบื้องต้นไทยใช้นโยบายทางการทูตมาโดยตลอด แต่วันนี้ไม่ว่าจะเป็นกรณีของแรงงาน หรือผู้หนีภัยการสู้รบก็ดี รวมถึงผู้หนีภัยทางเศรษฐกิจที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย จะมีหนทางแก้ไขอย่างไร หากมองตัวเลขที่หนีเข้าประเทศไทยอาจจะถึงหลักล้าน ประเทศไทยจะมีการรองรับอย่างไร ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะเกิดขึ้นในเมียนมา แต่ก็เป็นปัญหาของประเทศไทยด้วย ยิ่งมีการผสมรวมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทุนจีนสีเทา
หรือสแกมเมอร์ทั้งหลายยิ่งเป็นปัญหาของประเทศไทยที่ประเทศไทยต้องเร่งจัดการ อย่างไรก็ตาม ไทยควรจะต้องแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1.สิ่งที่ประเทศไทยสามารถทำได้ทันที คือ เรื่องของการสนับสนุน ด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่หนีภัยการสู้รบข้ามมาที่เราต้องช่วย ขณะเดียวกัน ระหว่างการช่วย เราก็คงจำเป็นที่จะต้องมีการ เก็บข้อมูลกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่เข้ามา เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถจำแนกได้ว่า ใครคือจีนเทา ใครคือเหยื่อจากการสู้รบจริงๆ รวมไปถึงการทำให้ชายแดนมีความมั่นคงปลอดภัย เพราะสิ่งที่อาจจะตามมาคืออาจจะมีการแอบแฝงในด้านอื่น ถ้าเราไม่มีการจัดการเรื่องความมั่นคงปลอดภัย
ระยะที่ 2 ไทยต้องพูดคุยกับทุกฝ่าย เพื่อปูทางไปสู่ระยะที่ 3 ที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยในเมียนมา ว่าจะเอาอย่างไร และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้ในระยะ 2 คือ การปราบปรามยาเสพติดชายแดน และในระยะที่ 3 เป็นระยะที่ต้องพูดคุยกัน อาจจะใช้ระยะเวลานานพอสมควรเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในเมียนมา เพื่อให้เกิดความมั่นคง และเป็นประชาธิปไตยสูงสุดในประเทศเมียนมา
ส่วนทางการไทยจะพูดคุยอย่างไรเพื่อไม่ให้ดูเป็นการแทรกแซง ประเทศเมียนมานั้น นายรังสิมันต์กล่าวว่า จากที่ได้กล่าวไปบทบาทต่างๆก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว และคงจะอยู่ในกรอบ ที่อาเซียนเคยมีมติ ฉะนั้น การเดินแบบนี้สามารถทำได้และเป็นบทบาทที่ประเทศไทยต้องทำ ถ้าเราต้องการให้วิกฤตในประเทศเมียนมายุติลง และต้องบอกว่าบทบาทของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นการใช้พรมแดนร่วมกันระหว่างไทยกับเมียนมา
บทบาทในการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจก็เชื่อว่าประเทศไทยยังคงอยู่ในฐานะที่น่าไว้วางใจมากกว่าคนอื่นในการที่จะเป็นตัวกลางในการเจรจาจนเชื่อว่าประเทศไทยสามารถทำได้ โดยที่ไม่ได้ละเมิดกฎเกณฑ์กติกาสากลทั้งสิ้นเราไม่ได้ส่งกองกำลังไปเราเองใช้วิธีการพูดคุยและวิธีการในการป้องกัน ที่เรียกว่าเคารพหลักสิทธิมนุษยชนด้วย
ขณะเดียวกัน นายรังสิมันต์ ยังสนับสนุนบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศและประเทศไทยในการที่จะดำเนินการ หาวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา แต่นอกจากการมองไปถึงกลไกที่เกี่ยวกับการพูดคุยเจรจา เราต้องทำยังไง ที่จะทำให้ประเทศไทย ไม่ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเพื่อนมนุษย์ ที่อยู่ในฝั่งตรงข้ามแม่สอดด้วย
ซึ่งนี่คือสิ่งที่ตนเป็นห่วง รวมไปถึงบทบาทของประเทศไทยที่อาจจะเกี่ยวข้องในลักษณะของการสนับสนุนสิ่งผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ซึ่งเรื่องนี้ ไม่จำเป็นจะต้องพูดถึงกลไกระหว่างประเทศแต่อยู่ที่ตัวเราที่เราสามารถดำเนินการได้ นี่คือสิ่งที่ตนอยากเห็น จึงอยากให้รัฐบาลใช้กลไกต่างๆ ระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และสื่อสารออกมาเป็นระยะๆว่าประเทศไทยดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้างเพื่อให้สังคมได้เห็นว่าประเทศไทย มีวิธีการดำเนินการอย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews