Home
|
ข่าว

“พ.ร.บ.อุ้มหายฯ” กับการเยียวยาเหยื่อและญาติ

Featured Image
พ.ร.บ.อุ้มหายฯ กับการเยียวยาเหยื่อกว่า 20 ปี ญาติเรียกร้องขอให้เยียวยาด้วย ความยุติธรรม

 

 

 

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ กฎหมายที่ถูกบังคับใช้เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 ซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐทรมานหรือกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมต่อประชาชน โดยจากสถิติพบว่ามีการร้องเรียนตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ กว่า 48 ราย เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานทรมาน 17 ราย ฐานกระทำโหดร้าย 19 ราย ฐานกระทำให้สูญหาย 7 ราย และกำลังเฝ้าติดตามอีก 7 ราย แต่มีเพียงแค่ 1 คดีเท่านั้นที่ถูกดำเนินการไปจนถึงศาลมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษ

 

 

โดยสำหรับการเยียวยาเหยื่อและญาติตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ นายพัสกร เพชรในหิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ได้กล่าวว่า หากพบเห็นว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ซึ่งการเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 27 ทางผู้เสียหายหรือเจ้าหน้าที่สามารถยื่นเรื่องต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยุติการทรมาน

 

 

การเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว และให้พบญาติหรือทนายได้ การเยียวยาด้วยสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้ออกหลักเกณฑ์เยียวยาและฟื้นฟูผู้เสียหาย โดยยกร่างระเบียบ คณะกรรมการว่าด้วยการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้เสียหาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็นชอบ

 

 

การดูแลเยียวยาครอบครัวเหยื่อ อย่างคดีของทนายสมชายที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547 ก็ได้รับการเยียวยาแล้วจากสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา (สชง.) จำนวน 80,000 บาท และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จำนวน 7,500,000 บาท ซึ่งทางด้านนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย

 

 

ก็ได้เปิดเผยต่อสื่อว่า สิ่งที่ตนอยากได้รับการเยียวยาจากภาครัฐมากที่สุดคือ การเยียวยาทางด้านจิตใจ ในการสืบทราบความจริงและชะตากรรมของผู้สูญหาย ซึ่งมีกำหนดไว้ในมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ โดย ณ ปัจจุบันคดีของทนายสมชายยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ ซึ่งหากปรากฏว่ามีหลักฐานใหม่ ทางพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบก็สามารถทำการสืบสวนสอบสวนต่อไปได้ทันที

 

 

นอกจากนี้ การเยียวยาในคดีของกะเหรี่ยงบิลลี่ ทางด้านครอบครัวก็ได้รับการเยียวยาค่าสินไหมทดแทน 26 ล้านบาท รวมถึงได้รับการเยียวยาจาก สชง. จำนวน 140,000 บาท รวมถึงคดีของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ก็มีการยื่นคำขอขอรับค่าตอบแทนของผู้เสียหายแล้ว แต่ยังไม่พบข้อมูลของการยื่นขอรับเงินค่าตอบแทน

 

 

ต่อมาในคดีงเปี๊ยก หรือ นายปัญญา คงแสนคำ ที่ตกเป็นแพะรับบาปในคดีฆาตกรรมป้าบัวผันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ณ ขณะนี้ยังไม่มีการเยียวยาผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ และคดียังคงอยู่ในขั้นตอนการออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย เพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 7-9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 นี้

 

 

 

ขณะที่นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย ยังคงเดินหน้าเรียกร้องจากภาครัฐกว่า 20 ปี และได้ระบุว่า ตนอยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม นำคดีบุคคลสูญหายทั้งหมดขึ้นมาพิจารณา เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย พ.ร.บ.ดังกล่าว และแจ้งให้แก่ครอบครัวผู้สูญหายทราบถึงชะตากรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อก่อนหน้านี้ตนได้ไปยื่นหนังสือร้องกระทรวงยุติธรรม

 

 

จากการถูกคุกคามโดยบุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในงานรำลึก 20 ปี การบังคับสูญหายของทนายสมชาย โดยยื่นหนังสือเมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าจากกรณีดังกล่าว ตนมีความหวังว่าทางกระทรวงยุติธรรมจะทำการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยุติการคุกคามและไม่ให้เกียรติเหยื่อรวมถึงครอบครัวเหยื่ออีกต่อไป

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube