‘ครั้งหน้าเอาใหม่’ ‘รอบนี้จะสอบให้ดีขึ้น’ ‘งวดนี้มาแน่’ หากพูดถึงความหวัง หรือความคาดหวัง เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนมีไม่ว่าจะตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวัยผู้ใหญ่ หลายล้านความหวังที่เราตั้งขึ้นในจิตใจ ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ ต่างพาให้เรามีเป้าหมายที่จะทำมัน
ความหวังคืออะไร ทำไมเราถึงมี
ความหวัง หรือ ἐλπίς (elpis) มีมาตั้งแต่ในยุคกรีกโบราณ เช่น หนังสือ Works and Days โดยกวี เฮสิโอด (Hesiod) ได้บอกเล่าเรื่องราวความหวังเทพกับมนุษย์ผ่านกล่องปริศนาที่รู้จักกันในนาม Pandora’s Box
โดยเริ่มจาก โพรมีธีอุส (Prometheus) ได้ขโมยไฟจากเทพเจ้าเตาไฟอย่าง เฮสเตีย (Hestia) มาให้กับเหล่ามนุษย์เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต เช่น ใช้หุงต้ม ให้แสงสว่าง จนเกิดความเฉื่อยชาในการใช้ชีวิต เทพเจ้าซุสจึงเกิดความขุ่นเคืองได้มอบสิ่งตอบแทนในการกระทำนี้เป็นกล่องปริศนา และสร้างผู้หญิงคนแรกนาม ‘แพนดอร่า’ ขึ้นมาให้กับ เอพิมีเทียส (Epimetheus)น้องชายของโพรมีธีอุส และเป็นสามีของแพนดาร่าในที่สุด
เทพเจ้าซุสได้สร้างความอยากรู้อยากเห็นลงไปในตัวของแพนดอร่า จนเปิดกล่องปริศนาที่มีทั้งความชั่วร้ายและความทุกข์ในกล่องได้ออกสู่โลกภายนอก เหลือทิ้งไว้แต่ความหวังที่จะทำให้ความชั่วร้ายเหล่านี้หายไป
ได้มีการตีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละผู้อ่านถึงความหวัง ว่าแท้จริงแล้ว ความหวังคืออะไร ในปี 1986 หนังสืออย่าง The Revolution of Hope: Toward a Humanized Technology เอริช ฟรอมม์ (Erich Fromm) นักจิตวิทยาและจิตวิทยาสังคมชาวเยอรมัน กล่าวไว้ว่า
“ความหวังเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันไม่ใช่การรอคอยและไม่ใช่การบังคับให้เกิดได้
การมีความหวังหมายถึงการเตรียมพร้อมทุกขณะสำหรับสิ่งที่ยังไม่เกิด และยังคงไม่หมดหมดหวังถ้าสิ่งเหล่านั้นยังไม่เกิด”
หรืออธิบายได้ว่า ความหวัง คือ สิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่นการทำสิ่งหนึ่งเพื่อหวังให้เกิดอีกสิ่งหนึ่ง ความหวังประกอบไปด้วยการมีอิสระในการตัดสินใจในเส้นทางที่จะไปให้ถึงสิ่งที่หวัง และเป็นธรรมดาที่จะเจออุปสรรค แต่คนที่มีความหวังมักมั่นใจในตัวเอง มองเห็นวิธีการบรรลุเป้าหมายเพื่อก้าวข้ามผ่านอุปสรรคไปได้
ถ้าไม่มีความหวัง ความผิดหวังจึงไม่เกิดจริงหรือ?
เป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่มีความหวังเลยแม้แต่เรื่องเดียว หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่จำความได้ ความหวังก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต อยู่ติดตัวกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ไม่ว่าจะหวังอยากได้ของเล่น อยากกินขนมอร่อย ๆ หรือได้เล่นกับเพื่อน ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตเราดำเนินไปพร้อม ๆ กับการมีหวัง
นักจิตวิทยาเชิงบวกชาวอเมริกัน ชาร์ลส์ ริชาร์ด สไนเดอร์ (Charles Richard Snyder) ได้คิดค้นทฤษฎีเกี่ยวกับความหวัง Hope Theory ที่บอกเล่าถึงความคิดทางปัญญาและอารมณ์ที่ก่อให้เกิดและนำไปสู่ความหวัง คือ
- การมีเป้าหมายในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ชัดเจน (Goals Thinking)
- ความสามารถในการสร้างกลยุทธ์ที่จะช่วยบรรลุเป้าหมาย (Pathways Thinking)
- ความสามารถในการสร้างและรักษาแรงจูงใจในการทำตามกลยุทธ์ให้ลุล่วง (Agency Thinking)
ซึ่งเป็นแนวทางการปรับใช้ความหวังอย่างมีเป้าหมายให้สำเร็จไปได้ และยังคงรักษาไว้ซึ่งความหวังที่ดี มองในอีกแง่หนึงคือเราไม่มีความหวังไม่ได้ แต่เราสามารถมีความหวังที่ไม่คาดหวังจนนำมาสู่ความผิดหวังได้
การใช้ทฤษฎีความหวังมาช่วยในการจัดการความหวังให้ไปในทิศทางที่ดี เป็นอีกตัวช่วยที่ทำให้เราตั้งเป้าหมายเพื่อสำเร็จความหวังนั้น ๆ และถึงแม้ความผิดหวังจะเกิด หากเราสร้างกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายได้อย่างอิสระ เราก็สามารถหาทางใหม่เพื่อไปสู่ความหวังได้อย่างไร้กังวล
เราสามารถมีความหวังได้ ตราบใดที่เรายังคงดำเนินชีวิตต่อไป การมีความหวังไม่ใช่ความผิด มีสิทธิที่จะมีเท่าไหร่ก็ได้ตามใจเราหวัง
ความหวังไม่ได้นำมาซึ่งความผิดหวังหรือความสำเร็จเท่านั้น แต่ระหว่างทางทำให้เราได้เรียนรู้ประสบการณ์ของชีวิต การจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ แลกมาด้วยความตั้งใจเป็นหลัก และสามารถมองเรื่องความผิดพลาดให้เป็นเรื่องปกติที่จะเกิด พร้อมนำมาเป็นบทเรียนในครั้งต่อไป
ไม่ใช่ไม่คาดหวังจึงไม่ผิดหวัง แต่เพราะผิดหวัง จึงมีความหวัง
อย่ากลัวที่จะมีความหวังหรือผิดหวัง แต่ควรรู้จักหวังให้ไม่เจ็บ หรือถึงแม้จะบอบช้ำแต่ให้หวังไว้ว่าพรุ่งนี้จะดีขึ้น การก้าวข้ามความผิดหวังให้ไปสู่บทเรียนชีวิต ถือว่าเป็นความผิดหวังที่สมบูรณ์
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอบคุณข้อมูลจาก