“พล.ต.ท.สุรเชษฐ์” เตรียมเข้ารายงานตัวต่อ ผบ.ตร. พรุ่งนี้ ปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่ง ที่ปรึกษา สบ.9 ครั้งแรก
จากกรณีเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ข้าราชการพลเรือนสามัญพ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ใจความ ว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ข้าราชการพลเรือนสามัญ
ซึ่ง คณะกรรมการข้าราชการตำรวจมีมติเห็นชอบ ให้รับโอนมาบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจพ้น จากตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ 9) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2564 ประกาศ ณ วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั้น
วันนี้ (29 มีนาคม 2564) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีรายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาลดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษา (สบ 9) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยวันนี้ยังไม่พบ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ แต่อย่างใด
ทั้งนี้ มีรายงานอีกว่าทาง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ จะเข้ามารายงานตัวกับ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันที่ 30 มีนาคม 2564 นี้
บิ๊กโจ๊กคือใคร
พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล หรือบิ๊กโจ๊ก เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ที่จังหวัดสงขลา เป็นบุตรของดาบตำรวจ ไสว หักพาล และนางสุมิตรา หักพาล สมรสกับ ดร.ศิรินัดดา (สกุลเดิม พานิชพงษ์)
สำเร็จการศึกษาในชั้นอนุบาล โรงเรียนกลับเพชรศึกษา ซึ่งมารดาเป็นครูสอนอยู่โรงเรียนนี้
สำเร็จการศึกษาในชั้นประถม โรงเรียนวิเชียรชม
สำเร็จการศึกษาในชั้น มัธยมศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ
และโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 31
ระดับชั้นปริญญาตรี รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต
สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 47
ระดับปริญญาโท สังคมศาสตรมหาบันฑิต สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม จากมหาวิทยาลัยมหิดล
และระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาเอก สังคมศาสตร์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล
สุรเชษฐ์ เริ่มรับราชการตำรวจในตำแหน่งรองสารวัตร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 จนได้รับการแต่งตั้งเลื่อนขั้นเป็นสารวัตรในกองวินัย ต่อมาเป็นสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 4 กองกำกับการ 5 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
และสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545
จนได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2547
และเป็นผู้ช่วยนายเวรตำรวจราชสำนักประจำให้กับ พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547
เป็นอดีต ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
รองผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.)
และผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ)
รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว
ผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ
ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว
รองผู้บังคับการจังหวัดสงขลา
ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จ.สงขลา
และผู้กำกับการกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งโอนย้ายไปเป็นข้าราชการพลเรือน สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งปัจจุบัน เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562
ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้มีคำสั่งจาก พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมาย
จนวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้มีคำสั่งจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ขาดจากตำแหน่งหน้าที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อโอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทนักบริหารระดับสูง ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ถูกเพิ่มรายชื่อในบัญชีรายชื่อเพิ่มเติมตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2558 เพื่อได้รับการตรวจสอบ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เนื่องด้วยมีมูลกรณี เมื่อถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ทำให้เสียหายแก่ทางราชการหรือทำให้ประชาชนเดือดร้อน
ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2563 เกิดเหตุรถยนต์ส่วนตัว ของ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ถูกยิง ณ บริเวณถนนสุรวงศ์ เขตบางรัก กทม. โดยในขณะนั้น พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ไม่ได้อยู่ภายในรถ
ในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563 ได้มีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาจรรยาและวินัยข้าราชการ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่าคำสั่งนี้ออกมาเนื่องจากมีการร้องเรียน จึงต้องเตือนไว้ก่อน
กระทั่ง ล่าสุดที่มีกระแสข่าวออกมาอย่างหนาหูกันว่า พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ จะได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news