Home
|
ข่าว

สภาองค์การนายจ้าง ยื่น ก.แรงงาน คัดค้าน ขึ้นค่าแรง 400

Featured Image
ประธานสภาองค์การนายจ้าง ยื่น ก.แรงงาน คัดค้าน ขึ้นค่าแรง 400 ทั่วประเทศ ยันเห็นด้วยที่จะขึ้นค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน

 

 

ที่กระทรวงแรงงาน ดร.เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) พร้อมด้วยผู้แทนจากสภาองค์การนายจ้างทั้ง 16 สภาองค์การนายจ้าง ยื่นหนังสื่อถึง นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 เพื่อคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการยื่นหนังสือก่อนการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567

 

ดร.เนาวรัตน์ กล่าวว่า ด้วยสภาพของเศรษฐกิจในประเทศที่ยังอยู่ในช่วงเปราะบาง เงินเฟ้อ ค่าเงินบาทอ่อน ขีดความสามารถในเชิงการแข่งขันด้อยลงไปเรื่อยๆ และเหตุผลทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ไม่พร้อมในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศแน่นอน โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) นอกจากนั้นยังมีเรื่องต้นทุน ค่าพลังงาน มีการปรับตัวขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องดูแลจุดนี้ด้วย

 

“เราเห็นด้วยที่จะขึ้นค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งทุกอุตสาหกรรมมีแรงงานทักษะอยู่แล้ว และสนับสนุนให้เอสเอ็มอีปรับมาจ้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือแรงงานเหมือนอย่างอุตสาหกรรมใหญ่ๆ แต่อาจจะมีความต่างกันในเรื่องของอัตราการจ้างงานที่จะต้องสอดคล้องกับกำไรและขนาดของธุรกิจนั้น” ดร.เนาวรัตน์กล่าวและว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น จึงต้องมองความสามารถของผู้ประกอบการเป็นหลัก

 

เมื่อถามถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ดร.เนาวรัตน์กล่าวว่า ค่าจ้าง 400 บาท เป็นค่าแรงแรกเข้า แต่ไม่ใช่ค่าแรงของพนักงานที่อยู่นานที่มีการปรับค่าแรงขึ้นตามศักยภาพ ดังนั้น เมื่อค่าแรงแรกเข้าเพิ่มเป็น 400 บาท คนที่อยู่ก่อนก็ต้องปรับตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

 

“ปีนี้ปรับขึ้นมา 2 รอบแล้ว แล้วยังจะมาขึ้นอีกครั้งวันที่ 1 ต.ค. เราคิดว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม” ดร.เนาวรัตน์กล่าวและว่า โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ขณะที่เงินฝืดแบบนี้ ถ้าขึ้นค่าจ้างแต่รายรับของธุรกิจไม่เพิ่มเท่ารายจ่าย เมื่อเขาอยู่ไม่ได้ก็ต้องปิดตัวไป

 

ส่วนรัฐบาลควรประกาศปรับขึ้นค่าจ้างล่วงหน้ากี่เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัว ดร.เนาวรัตน์กล่าวว่า ต้องใช้เวลา แต่จริงๆ การปรับค่าแรงทุกประเทศ ปรับเพียงปีละ 1 ครั้ง แต่เราขึ้นไปถึง 2 ครั้งในปีเดียว เมื่อถามต่อว่าการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งที่ 3 ถือว่ากระทรวงแรงงาน กระทำผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ ดร.เนาวรัตน์กล่าวว่า ก็พูดได้เหมือนกัน ในส่วนของมาตรา 87 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ

 

เมื่อถามว่าจะถึงขั้นคาดโทษรมว.แรงงานหรือไม่ ดร.เนาวรัตน์กล่าวว่า คงเป็นแบบนั้นไม่ได้ เพราะท่านทำตามนโยบายของรัฐบาล แต่บางอย่างควรทำตามกฎหมาย ขั้นตอน และระเบียบที่กระทรวงฯ มีอยู่แล้ว

 

“จริงๆ แล้ว เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ตามมาตรา 87 กำหนดให้มีการตั้งบอร์ดค่าจ้างฯ ที่เป็นองค์กรอิสระ ให้พิจารณาค่าจ้างตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งกระทรวงแรงงาน เป็นคนแต่งตั้งขึ้นมา ก็ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลต่างที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ไม่งั้นคุณจะตั้งเขาไว้ทำไม คุณก็ล้มเขาไปเลย” ดร.เนาวรัตน์กล่าว

 

ทั้งนี้ ข้อเสนอตามหนังสือที่มีการยื่นในวันนี้ ประกอบด้วย 1.ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ควรใช้หลักการตามกฏหมายโดยยึดแนวปฏิบัติจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดในแต่ละจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ 2.ในการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรจะพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ

 

ดังนั้น รัฐบาลควรสนับสนุนมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงานให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill เพื่อส่งเสริมแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน 3.การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของในแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

 

4.นอกเหนือจากการยกระดับรายได้ของแรงงานแล้ว ภาครัฐควรสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ให้แก่ภาคแรงงานในขั้นพื้นฐาน เช่น ในการจัดหา จัดซื้อ สินค้าอุปโภคบริโภคในราคาถูกลงอีกด้วย

 

นอกจากนี้ สภาองค์การนายจ้าง จะมีการนำหนังสือ คัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศเสนอต่อรัฐมนตีว่าการกระทรวงแรงงานด้วย โดยสภาองค์การนายจ้าง 16 สภาองค์การนายจ้าง ประกอบด้วย
1.สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (สภา1)

2.สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) (สภา2)

3.สภาองค์การนายจ้างสภาอุตสาหกรรมเอ็สเอ็มอี แห่งประเทศไทย (สภา3)
4.สภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค (สภา4)
5.สภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ (สภา5)
6.สภาองค์การนายจ้างธุรกิจไทย (สภา6)
7.สภาองค์การนายจ้างไทยสากล (สภา7)
8.สภาองค์การนายจ้างการเกษตร ธุรกิจ อุตสาหกรรมไทย (สภา8)
9.สภาองค์การนายจ้างธุรกิจ การค้าและบริการไทย (สภา9)
10.สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าไทย (สภา10)
11.สภาองค์การนายจ้างไทย (สภา11)
12.สภาองค์การนายจ้าง ธุรกิจ และอุตสาหกรรมแห่งชาติ (สภา12)
13.สภาองค์การนายจ้างธุรกิจอุตสาหการไทย (สภา13)
14.สภาองค์การนายจ้าง เอส.เอ็ม.อี แห่งประเทศไทย (สภา14)
15.สภาองค์การนายจ้างบริการไทย (สภา 15)
16.สภาองค์การนายจ้างธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว-ภาค 8 (สภา16)

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube