คกก.ค่าจ้างให้พิจารณารายจังหวัด ควรขึ้นค่าแรง400หรือไม่ ปลัดแรงงานเชื่อไตรภาคีตัดสินใจไร้การเมืองแทรก
ที่กระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างครั้งที่ 5/2567
นายไพโรจน์ กล่าวว่า จากกรณีที่มีข้อความเห็นว่าบอร์ดค่าจ้างฯ หรือไตรภาคี เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการพยายามปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำภายในวันที่ 1 ต.ค. วันนี้ที่ประชุมไตรภาคีจึงมีความเห็นว่า ให้อนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ไปพิจารณาว่าในแต่ละจังหวัดควรมีการขึ้นค่าจ้าง 400 บาทหรือไม่ หรือกิจการใดที่จำเป็นต้องขึ้นค่าจ้างก็ให้ทำรายการมา พร้อมสำรวจความเห็นว่าควรมีการปรับขึ้นในวันที่ 1 ต.ค. หรือไม่
“เราถือว่าไตรภาคีตัดสินใจในการดำเนินการภายใต้บริบทที่ไม่มีการเมืองมาแทรกแซง ฉะนั้น เราให้เกียรติอนุกรรมการจังหวัดฯ ในการพิจารณากรอบแนวคิด จากค่าครองชีพรายจังหวัด สภาพเศรษฐกิจ สภาพเงินเฟ้อ และที่สำคัญที่ต้องมองคือราคาสินค้าในท้องตลาดของแต่ละจังหวัด เพราะบริบทแต่ละจังหวัดต่างกัน จากนั้นให้อนุกรรมการจังหวัดฯ นำเสนอว่าในแต่ละจังหวัดควรจะขึ้นค่าจ้างเท่าไหร่ กิจการใดที่มีความจำเป็น เราต้องเข้าใจว่าในบางกิจการที่มีกำลังน้อย อย่างเช่นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ภาคเกษตร ชาวสวน
ซึ่งจะต้องลงในรายละเอียด จึงอยากให้อนุกรรมการจังหวัดฯ ที่รู้บริบทของจังหวัด รู้ความต้องการของการสร้างงานในจังหวัดเสนอมาให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง พิจารณาความต้องการ ความจำเป็นของการขึ้นค่าจ้างจังหวัดแล้วก็จะนำเสนอมาให้กับบอร์ดค่าจ้างฯ เคาะครั้งสุดท้าย” นายไพโรจน์กล่าว
นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ส่วนไทม์ไลน์การดำเนินการให้อนุกรรมการจังหวัดฯ พิจารณาให้แล้วเสร็จให้เดือน ก.ค. ซึ่งตนมองว่าใช้เวลา 2 เดือนก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน จากนั้น คณะกรรมการกลั่นกรองฯ กับบอร์ดค่าจ้างฯ ก็จะดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อให้การดำเนินการขึ้นค่าจ้างเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ ส่วนการประชุมบอร์ดค่าจ้างฯ ครั้งต่อไปกำหนดไว้วันที่ 19 มิ.ย.
ส่วนไทม์ไลน์ที่กำหนดในการขึ้นค่าจ้างยังเป็นวันที่ 1 ต.ค. หรือไม่นั้น นายไพโรจน์ ระบุว่า เราไม่พูดถึง 1 ต.ค. แต่พยายามทำให้มีความเหมาะสม ถูกต้อง ครบถ้วน และตรงกับความต้องการของนายจ้างกับลูกจ้าง อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้อนุกรรมการจังหวัดฯ สำรวจความพร้อมในการขึ้นค่าจ้าง
นายไพโรจน์ เผยว่า ในที่ประชุมนั้น ฝ่ายลูกจ้างเสนอว่า ไม่ได้ต้องการ 400 บาทต่อวัน และบางกิจการควรจะจ่ายมากกว่า 400 บาท ดังนั้นเราจะไม่พูดที่ 400 บาท เพราะอาจจะเกิน 400 บาทก็ได้
“นายจ้างเองก็มีความคิดเห็นส่วนนายจ้างอยู่แล้ว ดังนั้นความพอดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อให้เกิดการยอมรับทั้งสองฝ่าย” นายไพโรจน์กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการล้มใช้สูตรการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้มีการบังคับใช้ไปเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา นายไพโรจน์กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการล้มสูตร เพียงแต่เปลี่ยนการคิดจากเดิมที่มีการกำหนดตัวเลขบวกลบ ซึ่งฝ่ายลูกจ้างมองว่า หากใช้สูตรดังกล่าวค่าจ้างจะไม่ถึง 400 บาท
ขณะที่ ทางนักวิชาการมีการเสนอว่าให้มีการปรับ หน่วยมอบให้เป็นอำนาจของอนุกรรมการจังหวัดฯ ไปคำนวณตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัดว่าจะมีการปรับขึ้นในอัตราเท่าไหร่ เพื่อให้มีความคล่องตัวและความอิสระ แต่สุดท้ายในการปรับขึ้นจะต้องมีการพิจารณาตามสูตรที่เป็นมติของบอร์ดค่าจ้างฯ ทั้งนี้ ที่ประชุมจึงมีการยกมือโหวต จึงเป็นมติดังกล่าว
“บางจังหวัดมีความต้องการขึ้นค่าแรงมากกว่า 400 บาท ดังนั้น เราไม่ได้จำกัดว่าจะต้อง 400 บาท บางจังหวัดอาจเสนอมากกว่า 400 บาทก็เป็นไปได้” นายไพโรจน์กล่าว
เมื่อถามยามว่าเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างกึ่งลอยตัวหรือไม่ นายไพโรจน์กล่าวว่า ใช่ เพราะให้ทางจังหวัดไปพิจารณาตามความต้องการของจังหวัด
ด้าน นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า บรรยากาศในการประชุมวันนี้เป็นไปได้ด้วยดีเหมือนเช่นเคย ส่วนประเด็นที่พูดคุยกันในวันนี้ก็มีการพิจารณาค่าจ้างรายอุตสาหกรรม ซึ่งทางฝ่ายเลขานุการได้เลือกว่าจะทำวิจัยค่าจ้างในเรื่องใด ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคเกษตรกรรม ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ จึงจะมีการเสนอใหม่ในการประชุมครั้งหน้า ในวันที่ 19 มิ.ย.
โดยตนย้ำว่าจะต้องมีการทำวิจัยก่อนถึงจะมีการปรับอัตราค่าจ้างได้ อย่างเช่นที่ตนเคยเสนอเรื่องค่าจ้างลอยตัว เมื่อ 10 ปีก่อน พอทำวิจัยออกมาก็พบว่าเรายังไม่พร้อมที่จะทำค่าจ้างลอยตัว
“แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามติในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำดูค่อนข้างเร่งรีบที่จะให้อนุกรรมจังหวัดฯ พิจารณาค่าจ้างกลับมาโดยเร็ว พยายามให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ค. และนำเข้าสู่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ มีข้อสังเกตว่าเร่งรีบมาก ซึ่งโดยปกติแล้วตารางการปฎิบัติหน้าที่ของเรา โดยปกติวันนี้จะมีมติให้อนุกรรมการจังหวัดฯ พิจารณา ให้แล้วเสร็จภายใน ส.ค. ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปลายปีก่อน เพื่อพิจารณาปรับอัตราในเดือน ต.ค. และประกาศใช้เดือน ม.ค. ปีถัดไป” นายอรรถยุทธกล่าว
เมื่อถามถึงมติที่ประชุมในการปรับค่าจ้าง 400 บาทต่อวัน นายอรรถยุทธกล่าวว่า เราไม่ได้พูดว่าจะ 400 บาทหรือไม่ แต่ให้เป็นการพิจารณาไปตามกระบวนการ โดยให้คำนึงถึงกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 87 ว่าควรจะพิจารณาอย่างไร
ซึ่งเป็นสูตรการคำนวณที่เรามีมติร่วมกันตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ามีผู้เสนอให้ยกเลิกสูตรนั้น แต่ฝ่ายนายจ้างไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ซึ่งเราเห็นว่าเมื่อมีมติร่วมกันแล้วในเดือน ก.พ. ก็ควรจะใช้สูตรเดิม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews