“ซูเปอร์โพล” เผยประชาชนเจอปัญหาแก๊งดูดเงิน รู้สึกกังวลฝากออนไลน์ไม่ปลอดภัย ชี้ธนาคารควรรับผิดชอบ แนะแก้กฎหมายคุ้มครอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคประชาชนในคณะกรรมการ นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และอาจารย์ประจำหลักสูตรความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยความร่วมมือของสองสำนักโพลระหว่าง สยามเทคโนโพล และซูเปอร์โพล เรื่อง เสียงลูกค้าธนาคาร ต่อ แก๊งดูดเงิน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,283 ตัวอย่าง
โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 – 18 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา เมื่อถามถึงประสบการณ์เคยเจอปัญหาความไม่ปลอดภัยต่อเงินในบัญชีธนาคาร ออนไลน์ พบว่า เกือบ 1 ใน 4 หรือ ร้อยละ 24.1 ระบุ เคยเจอปัญหา มาก ถึง มากที่สุด ร้อยละ 23.7 ระบุ ปานกลาง ร้อยละ 27.7 ระบุ เคยเจอปัญหา น้อย ถึงน้อยที่สุด และในขณะที่ร้อยละ 24.5 ระบุ ไม่เคยเจอเลย
ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลที่สำรวจพบในเดือน ก.พ.-พ.ค. พ.ศ.2567 ว่า ใครต้องรับผิดชอบ เมื่อประชาชนถูกแก๊งดูดเงินหลอก ซึ่งพบแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกกลุ่มที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ ยกเว้นกลุ่มของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย ที่พบแนวโน้มความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นสูงสุด ในการศึกษาครั้งนี้ มีรายละเอียด ดังนี้
กลุ่มที่ 1 แนวโน้มของผู้ที่ระบุว่า ธนาคารรับฝากเงินต้องรับผิดชอบเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 75.4 ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 86.3 ที่ระบุว่า ธนาคารรับฝากเงินต้องรับผิดชอบ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.9 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
กลุ่มที่ 2 แนวโน้มของผู้ที่ระบุว่า มิจฉาชีพ โจรไซเบอร์ ต้องรับผิดชอบเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 56.4 ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 65.3 ที่ระบุว่า มิจฉาชีพ โจรไซเบอร์ต้องรับผิดชอบ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.9 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
กลุ่มที่ 3 แนวโน้มของผู้ที่ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องรับผิดชอบเพิ่มสูงขึ้นมากสุดจากเดิมในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 23.0 ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 37.0 ที่ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรับผิดชอบ เพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 14.0 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
กลุ่มที่ 4 แนวโน้มของผู้ที่ระบุว่า เหยื่อ เจ้าของบัญชี ต้องรับผิดชอบ ลดลงจากเดิมในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 31.8 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 29.0 ที่ระบุว่า เหยื่อ เจ้าของบัญชีต้องรับผิดชอบ ลดลงร้อยละ 2.8 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
กลุ่มที่ 5 แนวโน้มของผู้ที่ระบุว่า ตำรวจ ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นจากเดิมในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ร้อยละ 13.5 ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 20.2 ที่ระบุว่า ตำรวจต้องรับผิดชอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.3 รู้สึกกังวลต่อความไม่ปลอดภัยของเงินที่ฝากไว้ในบัญชีธนาคารแบบออนไลน์
ที่น่าพิจารณาคือ ข้อเสนอแนะจากประชาชน ต่อ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรักษาเงินของประชาชนในบัญชีเงินฝากกับธนาคาร ได้แก่
-ธนาคารรับฝากเงินของลูกค้า ควรกระตือรือร้น รับผิดชอบ มีหลักธรรมาภิบาล กำกับกิจการที่ดี ดูแลเงินของลูกค้าธนาคารให้ดีกว่านี้
-ให้ลูกค้าธนาคารที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ รวมตัวกัน ฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหายจากธนาคารที่ปล่อยปละละเลย เพิกเฉย ล่าช้า ขาดความรับผิดชอบต่อเงินในบัญชีของลูกค้า
-ควรมีเมนู ในแอปพลิเคชั่นให้ลูกค้าธนาคารผู้ตกเป็นเหยื่อ สามารถแจ้งธนาคารให้อายัดบัญชีมิจฉาชีพได้ทันทีผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคาร
-ธนาคาร ควรมีระบบเชื่อมโยงกับลูกค้าผ่านแอปพลิเคชั่น สามารถระงับการโอน อายัดเงินในบัญชีมิจฉาชีพได้ทันที
-ควรมีหน่วยงานกลางตรวจสอบความรับผิดชอบ ความไม่รับผิดชอบและการปล่อยปละละเลยของบางธนาคาร
-แก้ไขกฎหมาย คุ้มครองลูกค้าธนาคารมากขึ้น สามารถลงโทษเอาผิดธนาคาร เอาผิดมิจฉาชีพ เจ้าหน้าที่รัฐให้มากกว่านี้
-อื่นๆ เช่น ให้ความรู้ ความตระหนักแก่ประชาชนมากขึ้น บูรณาการทุกหน่วยงาน เช่น กระทรวง DE ธนาคาร ผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัทพ์เคลื่อนที่ ตำรวจ ร่วมกันขจัดขบวนการมิจฉาชีพ ดำเนินคดีธนาคารที่ปล่อยปละละเลย หละหลวมในการดูแลรักษาเงินของลูกค้าและข้อมูลของลูกค้าธนาคาร และหน่วยงานรัฐด้านคุ้มครองผู้บริโภคควรดูแลประชาชน เป็นต้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews