เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก วารสารย่านจีนถิ่นบางกอก ฉบับที่ 1 มกราคม 2562
ในวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันว่างของใครหลายๆ คนในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร เชื่อแน่ว่าหลายคนนึกถึงพื้นที่ที่สามารถถ่ายรูปเช็คอินสวยๆ ใช้ชีวิตท่องเที่ยวอย่างไม่เร่งรีบ แน่นอนว่ามีหลายพื้นที่ หากแต่พื้นที่ที่รองรับการเดินท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทย-จีน อย่าง ‘ตลาดน้อย’ กลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในใจของใครหลายๆ คน
ไชน่าทาวน์ หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ตลาดน้อย คือหนึ่งในย่านเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ที่มีสถานที่สำคัญ เช่น ศาสนสถาน ร้านค้า ร้านอาหารเก่าแก่จำนวนมาก ตั้งอยู่ในตรอกซอยภายในชุมชนที่รถยนต์เข้าไม่ถึง ดังนั้นหากต้องการเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว จะต้องอาศัยการเดินเท่านั้น ซึ่งนับเป็นเสน่ห์ของพื้นที่แห่งนี้
โครงการย่านจีนถิ่นบางกอก ได้ทำการเก็บข้อมูลเส้นทางสัญจรในเขตสัมพันธวงศ์ และสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ พบว่ามีปัจจัยที่ส่งผลให้คนไม่อยากเดินในย่านไชน่าทาวน์ มีดังนี้
1.ความไม่สะดวกสบายในการเดิน
2.มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น
3.ไม่รู้จักเรื่องราวของพื้นที่
4.ไม่รู้จักเส้นทาง
จากปัจจัยข้างต้นจึงเป็นส่วนหนึ่งของที่มาในการจัดทำ เว็บแอป walk.in.th ที่สามารถบอกทิศทางและบอกเล่าเรื่องราวของสถานที่สำคัญในมิติของความเป็นท้องถิ่น โดยเมื่อปลายปี 2563 สสส.-กลุ่มปั้นเมือง เปิดตัวเว็บแอปพลิเคชัน Walk.in.th “เดินไชน่าทาวน์” ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว ชวนสำรวจ 10 เส้นทางน่าเดิน ย่านเมืองเก่า เรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ไทย-จีน พัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เอื้อสุขภาวะที่ดี
นางมัทนา ถนอมพันธุ์ หอมลออ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เป็นความภาคภูมิใจที่พื้นที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง แม้ในยามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พื้นที่นี้ยังยืนหยัดและรับมือได้ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
“ สสส. ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับพื้นที่ที่สร้างสรรค์ และใช้กิจกรรมการเดินผ่านพื้นที่แห่งวัฒนธรรมแห่งนี้ รวมทั้งได้เรียนรู้วิถีชีวิตและประวัติศาสตร์อีกด้วย โดยการเปิดเว็บแอป walk.in.th เพื่อช่วยในการเดินท่องเที่ยวในย่านนี้ แสดงออกถึงความพร้อมของชุมชนในการรับมือความเปลี่ยนแปลง ทุกคนจะได้เรียนรู้และแบ่งปันสุขภาวะด้วยการเดิน” นางมัทนา กล่าว
นายจุฤทธิ์ กังวานภูมิ ผู้รับผิดชอบโครงการย่านน่าเดินเขตสัมพันธวงศ์ กล่าวถึงที่มาของเว็บแอป walk.in.th ว่าว่า สสส.ก็มียุทธศาสตร์ในการเพิ่มกิจกรรมทางกายให้กับคนทุกกลุ่มวัย มองว่าเรื่องการเดินเป็นตัวที่ตอบได้อย่าง ตรงไปตรงมา เว็บแอปนี้มาจากโจทย์ที่ว่า เราคุยกับชุมชนในเขตว่า ถ้าสมมุติว่าเพื่อนมา อยากแนะนำที่ท่องเที่ยวและเส้นทางใดที่ปลอดภัย นำมาสู่ 10 เส้นทางน่าเดินที่มีความเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกันอยู่ อย่างน้อยคนยุคใหม่ได้เห็นศักยภาพของพื้นที่และยังอยากอยู่ต่อ เรามีต้นทุนที่เราไม่ต้องไปสร้างใหม่ ใช้จากต้นทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว มาทำประโยชน์ให้มากขึ้น ซึ่ง 10 เส้นทาง สามารถเลือกได้จากเว็บแอป ทำให้การเดินมีความสนุกมากยิ่งขึ้น
ทำไมต้องเดินในไชน่าทาวน์
1.เป็นศูนย์รวมมรดกวัฒนธรรมไทย-จีน และอีกหลากหลายเชื้อชาติ แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่แก่นของวัฒนธรรมยังคงเดิม
2.กระแสการท่องเที่ยวของไชน่าทาวน์ดีขึ้นมาก ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นย่านการค้าปลีก-ส่ง และโด่งดังเรื่องอาหารการกินตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
3.การคมนาคมง่ายและสะดวกสบาย ทั้งท่าเรือเจ้าพระยา และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
4.เปิดโอกาสให้ศิลปินและคนรุ่นใหม่ สามารถเข้ามาสร้างกิจกรรมใหม่ๆ ในพื้นที่ ทั้งการสร้างสรรค์งานศิลปะไปจนถึงการเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้
เพราะสุขภาวะเป็นเป้าหมายสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดชุมชนแห่งวัฒนธรรม นับว่าการเดินเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่ช่วยให้สุขภาพดี ประหยัดค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกันก็ทำให้มีเวลาในการปฏิสัมพันธ์มากขึ้น ช่วยอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี