นับตั้งแต่มีการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญ เป็น “องค์กรอิสระ” ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2540 ตลอดระยะเวลา 27 ปี ศาลรัฐธรรมนูญ ไต่สวน ตัดสิน ชี้ขาดคดีสำคัญๆของประเทศ ที่มีผลผูกพันธ์ในทุกองค์กรหรือ จะบอกว่าเป็นพ่อทุกสถาบัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาแล้วมากมาย ทั้งยุบพรรคการเมือง ถอดถอนนายกรัฐมนตรี ,และรัฐมนตรีไปหลายราย
โดย “เศรษฐา ทวีสิน” คือนายกรัฐมนตรี คนที่ 5 ที่ต้องสุ่มเสี่ยงพ้นตำแหน่ง หลังตุลาการ มีมติ 6 ต่อ 3รับคำร้องของ 40 สว.ที่ขอให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ “เศรษฐา” ว่าสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่กรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรี แม้จะมีมติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ศาลกำหนดให้ส่งคำชี้แจงภายใน 15 วัน หลังจากนั้นก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
4 นายกฯ ที่ผ่านการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4 ราย คนแรกคือ “ทักษิณ ชินวัตร” ปี 2544 ถูกร้อง คดีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือ “ซุกหุ้น”จากขุดคุ้ยของสื่อพบว่ามี “คนรับใช้-คนขับรถ” เป็นนอมินี ถือหุ้นแทนคนในตระกูลชินวัตรแต่ผลการตัดสิน มติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานบ่งชี้ว่ากระทำผิดพร้อมกับมีวาทะกรรมในตำนาน “บกพร่องโดยสุจริต”
นายกฯคนต่อมาที่ถูกร้อง คือ “สมัคร สุนทรเวช” จากพรรคพลังประชาชนที่เคยพูดออกสื่อว่า ตัวเองเป็นนอมินี ของ”ทักษิณ” ถูกยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยประเด็นการเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์รายการ “ชิมไป บ่นไป” โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0ชี้ขาด “สมัคร” ขัดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีจึงทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัครสิ้นสุดลง ตามติดมาด้วย
รายที่ 3 “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาว “ทักษิณ” ถูกร้องกรณี โยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี”พ้นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอื้อประโยชน์ ให้แก่เครือญาติเปิดทาง “พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์” เป็น ผบ.ตร.และเอา พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.คนเก่าไปนั่งเลขาฯ สมช. แทน “ถวิล”ศาลรัฐธรรมนูญก็มติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ให้ความเป็นนายกฯ ของ”ยิ่งลักษณ์” สิ้นสุดลง
ส่วนคนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ 4 คดี “บ้านพักหลวง”ศาลมติเอกฉันท์ ไม่ผิดเนื่องจากไปเป็นไปตามระเบียบของกองทัพบก,คดีต่อมา “เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเนื่องจากเป็นหัวหน้า คสช. ทำให้ขาดคุณสมบัติเป็นนายกฯหรือไม่นั้นศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ตำแหน่ง คสช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจาก คสช.เป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ,
คดีที่ 3 กล่าวคำถวายสัตย์ฯ เมื่อครั้งเป็นนายกฯปี 2562 ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ ยกคำร้องไม่รับวินิจฉัยคดีและคดีสุดท้าย “ดำรงตำแหน่งนายกฯเกิน 8 ปี” ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่โดยรับคำร้อง พร้อมกับ มติ 5 ต่อ 4 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
ก่อนท้ายที่สุด มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง เห็นว่าการดำรงตำแหน่งนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากให้เริ่มนับความเป็นนายกฯตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560บังคับใช้ ดังนั้น 4 นายกฯ ก่อนหน้านี้ มีรอด 2 ราย และ ต้องพ้นจากตำแหน่ง 2 รายนายกฯ เศรษฐา คือคนที่ 5 ผลจะออกมาเป็นอย่างไร โปรดติดตามกันต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews