“สุทิน” เร่งแก้กฎหมาย สนับสนุนเอกชนไทยขายอาวุธ พร้อมริเริ่มให้กองทัพจัดจัดซื้ออาวุธ ยุทโธปกรณ์ ในประเทศ ปี 68 นี้ ยอมรับงบประมาณ ปี 68 กองทัพจัดซื้ออาวุธสูงเพราะหมดอายุ
นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีส่งมอบรถยานเกราะล้อยางแบบ 4×4 จำนวน 10 คัน ของบริษัท ไทยดีเฟนส์อินดัสตรี จำกัด (TDI) และ อาวุธปืนเล็กสั้น อาวุธปืนพก จำนวน 230 กระบอก ของบริษัท อุตสาหกรรมผลิตอาวุธ จำกัด (WMI) ให้กับเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรภูฏานประจำประเทศไทย เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ราชอาณาจักรภูฏาน นำไปใช้ในภารกิจรักษาสันติภาพว่า เป็นการช่วยให้ประเทศเดินหน้า ในเรื่องของความมั่นคงของประเทศและนำรายได้ทางด้านยุทโธปกรณ์ เข้าสู่ประเทศ
เป็นการแสดงถึงขีดความสามารถของเอกชนไทยและได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ ซึ่งในวันนี้ถือเป็นเพียงล็อตแรกที่ได้ร่วมกันระหว่างสถาบัน เทคโนโลยีป้องกันประเทศและ ราชอาณาจักรภูฏานโดยในระหว่างนี้ก็อาจจะมีการเพิ่มเติม ซึ่งทางสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศก็ยังได้มีการเจรจากับอีกหลายประเทศด้วยโดยเฉพาะในอาเซียนน่าจะมีการจบการประสานงานในเร็วๆนี้และเชื่อว่าจะมีการขายอาวุธได้อีกเป็นจำนวนมาก จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี
ส่วนการปรับแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนผลิตอาวุธ ออกขาย นายสุทินกล่างว่า ในเรื่องนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานตั้งแต่ช่วงเข้ามาเป็นรัฐมนตรีใหม่ใหม่เพื่อส่งเสริมผลักดันให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศก้าวหน้าซึ่งผลการศึกษาจำเป็นจะต้องมีการแก้กฎหมายหลายฉบับอย่างน้อยคือเรื่องเกี่ยวกับภาษีเพราะขณะนี้เอกชนไทยยังเสียเปรียบ ต่างประเทศอยู่
เนื่องจากการนำชิ้นส่วนเข้ามาผลิตต้องเสียภาษีมากกว่า การนำยุทโธปกรณ์ที่ผลิตเสร็จแล้วเข้ามา ดังนั้นต้องมีการแก้ไขกฎหมายควบคุมอาวุธและการส่งออกอาวุธ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้มานาน จึงต้องมีการสร้างความสมดุลย์ ซึ่งคณะทำงานก็เตรียมประชุมเพิ่มเติมในเรื่องของการแก้ไขกฎหมาย เพื่อผลักดันให้ทันการประชุมสภาในสมัยการประชุมนี้ รวมไปถึงการผลักดันพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสถาบัน เทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ในการปฎิบัติภารกิจและส่งเสริมให้เอกชนได้เดินหน้าการทำงานคล่องตัวไปพร้อมกัน
พร้อมย้ำว่า อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นหนึ่งใน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งมองคล้ายกับรัฐบาลที่ผ่านมา หากส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เอกชนมีความแข็งแรงก็จะเกิดความมั่นคงทางด้านอาวุธของไทย หากเกิดเหตุการณ์ใดใดก็ไม่ต้องพะวง ที่สำคัญประหยัดในการจ่ายเงินออกนอกประเทศ และเป็นการนำเงินกลับเข้ามาในประเทศได้ด้วยซึ่งมีมูลค่าที่สูงเพราะมูลค่าการค้าอาวุธใช้งบประมาณสูง
ดังนั้นจำเป็นจะต้องทำให้สำเร็จให้ได้ และเชื่อมั่นในภาคเอกชนไทยที่มีความสามารถ และไทยยังมีความร่วมมือกับอีกหลายประเทศจากสองสัปดาห์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีเดินทางไปฝรั่งเศสซึ่งมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดร่วมทีมไปด้วย โดยมีเอกชนไทยร่วมทำเอ็มโอยูกับทางฝรั่งเศส ก็เป็นอีกด้านหนึ่งในการส่งเสริมเรื่องของการขายแม้ว่าจะไม่มากแต่ก็ถือเป็นการขับเคลื่อนในทุกมิติ
ส่วนกรณีที่เหล่าทัพจัดซื้ออาวุธในประเทศน้อยมากนั้นเห็นว่า เรื่องนี้จำเป็นจะต้องเริ่มทำโดยคณะทำงานของกระทรวงกลาโหมก็ได้เสนอมาว่าอย่างน้อยอาวุธใดที่ผลิตได้เองในประเทศกองทัพก็ควรจะจัดซื้อในประเทศก่อนเป็นลักษณะขั้นบันไดไปก่อน ตามสัดส่วนที่ต้องค่อยค่อยไต่ระดับ โดยจากการให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีและสภากลาโหมเดิมได้มีการพูดคุยถึงเรื่องไว้แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริง ก็จะริเริ่มในปี 2568 บังคับใช้อย่างจริงจัง และเชื่อว่าทางเหล่าทัพจะไม่ขัดข้องที่จะซื้ออาวุธในประเทศ แต่จะเปลี่ยนแบบทันทีคงเป็นเรื่องยากต้องไต่ระดับไปเรื่อยเรื่อย
ส่วนภาพรวมการจัดซื้ออาวุธในปี 2568 นั้นนายสุทิน ยอมรับว่ามีการจัดซื้อจำนวนมากเพราะเป็นเหตุบังเอิญยุทธโทปกรณ์หลาย ประเภทหมดอายุจึงต้องจัดหาใหม่ในช่วงนี้พอดีเช่นเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศซึ่งจะหมดอายุในปี 2570 ซึ่งต้องเตรียมการจัดซื้อล่วงหน้าทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจกับทางสภาและประชาชนถึงความจำเป็น ส่วนรายการใดที่ใช้ในประเทศได้ก็จะดำเนินการจัดซื้อในประเทศ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews