นักวิชาการ ชี้ ระบบเลือก สว.ซับซ้อน เสี่ยงไม่เหลือผู้สมัคร และตกรอบโดยไม่มีความผิด จึงไม่ควรตัดสิทธิ์ใคร โดยยังไม่มีความชัดเจน
ในการเสวนา “ปัญหาการเลือก ส.ว. 2567 จะแก้ไขอย่างไร ข้อเรียกร้องจากประชาชนถึง กกต.” นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการที่กกต.เคยคาดหมายว่าจะมีผู้สมัครอย่างน้อย 1 แสนคน แต่ในทางปฏิบัติเหลือผู้สมัครไม่ถึงครึ่งหนึ่งเพียง 45,000 คน หากคิดตามระบบใน ทุกอำเภอ 20 กลุ่มอาชีพจะได้ 3 คน
ทั้งหมด 928 อำเภอ ตัวเลขคือกว่า 55,680 คน ซึ่งเวลานี้ตัวเลขต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ปัญหาคือในจังหวัดและอำเภอที่มีผู้สมัครต่ำกว่าจำนวนคนที่เข้ารอบจะเกิดขึ้นหลายอำเภอ จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ขณะนี้น่าเป็นห่วงมากคือกกต. มีแนวโน้มว่าจะตัดสิทธิ์เพราะไม่มีคนให้เลือกไขว้ในบางอำเภอ
ฉะนั้นจึงถูกตัดสิทธิ์โดยระบบ สิ่งนี้อยากให้กกต.พิจารณาให้ดี เพราะการเลือกสว.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของกกต. แต่เป็นการเลือกผู้แทนปวงชนชาวไทยและผู้สมัครทุกคนมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ หลักสิทธิเสรีภาพคือการตีความกฎหมายต้องตีความเป็นในทางให้สิทธิ์ไม่ใช่การตัดสิทธิ์ ตราบใดที่เขายังไม่ได้รับโปรดเกล้าเป็นสวเขายังคงเป็นประชาชน ฉะนั้นการตีความต้องตีความในทางให้สิทธิ์ ไม่ใช่ตัดสิทธิ์ดังเช่นที่กกต. ทำอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดมา ซึ่งตามกฎหมายก็เขียนไว้อย่างชัดเจนว่าในรอบแรกระดับอำเภอ 20 กลุ่มเลือกกันเอง
หากกลุ่มอาชีพใดมีไม่ถึง 5 คนก็ถือว่าให้เข้ารอบ ไม่สามารถตัดสิทธิ์ได้เพราะเมื่อคนสมัครต่ำกว่า 5 คนก็ให้ผ่านรอบแรก และในช่วงที่ต้องเลือกไขว้ระดับอำเภอทุกอำเภอแต่ละกลุ่มอาชีพคือ 3 คน หากไม่เกิน ก็ให้ถือว่าเข้ารอบระดับจังหวัด ซึ่งในระดับจังหวัดจะเหลือกลุ่มอาชีพละ 2 คน จึงได้ 40 คนต่อ 1 จังหวัด ตัวเลขทั้งหมดคือ 3,080 คน ในรอบจังหวัดปัญหาคงไม่เกิด แต่จะเกิดในระดับอำเภอ ที่ไม่ครบกลุ่มอาชีพหลักคือต้องไม่ตัดสิทธิ์
กกต.จะต้องเตรียมการให้พร้อมก่อนวันที่ 9 มิถุนายน ต้องมีความชัดเจนโปร่งใสข้อกฎหมายที่มีอยู่จะไปตัดสิทธิ์ไม่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ก่อนที่จะเดินหน้าไปยังระดับจังหวัดต้องมีการประกาศ ในระดับอำเภอให้เรียบร้อยก่อน
และในกรณีมีข่าว มีรายชื่อ 149 คนออกมา กกต.ต้องตอบให้ได้ ว่ามีการฮั้วมีการล็อคหรือไม่ เพราะถือเป็นความผิดทางอาญา หากสัญญาว่าจะเลือก กกต.ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนออกมา ต้องส่งเสริมบทบาทของประชาชนและสื่อมวลชน ในการตรวจสอบสังเกตการณ์ เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสทำให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชนได้
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ iLaw กล่าวว่า การเลือกสว.ในครั้งนี้ เป็นการเลือกด้วยระบบใหม่และไม่มีใครรู้ด้วยว่าระบบนี้ดีหรือไม่แล้วจะออกมาอย่างไร ตอนนี้มีข้อกังวลคือ เบื้องต้นว่าน่าจะมีการจัดตั้ง ถูกเกณฑ์ หรือฮั้วกันในการสมัคร โดยคนที่ถูกเกณฑ์มาจะได้เข้าไปเลือกในระดับอำเภอในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ แล้วหากมีการตัดสินภายหลังว่าคนเหล่านี้ไม่มีคุณสมบัติที่จะสมัครได้ แต่คะแนนโหวตได้โหวตไปหมดแล้วเอาคืนมาไม่ได้ จึงอยากจะเห็นการตรวจสอบคุณสมบัติและข้อร้องเรียนทั้งหมดว่า
ใครสมัครได้หรือไม่ได้ ให้เสร็จก่อนวันที่ 9 มิถุนายนนี้ และอีกประเด็นหนึ่งคือการที่มีผู้สมัครจำนวนน้อย ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของผู้สมัคร ไม่ใช่ความผิดของประชาชน ซึ่งเป็นความผิดของระบบครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งเป็นความผิดของผู้บังคับใช้ระบบคือกกต. ทำให้คนเข้าถึงการสมัครไม่ได้ เมื่อคนมาสมัครน้อยทำให้มีหลายอำเภอที่มีคนสมัครกลุ่มเดียว
ซึ่งอาจเป็นผู้สมัครคนเดียวหรือสองคนในกลุ่มนั้นๆ กกต.ล่าสุดมีคำอธิบายว่าไม่สามารถเลือกไขว้ได้ ทำให้ผู้สมัครทั้งหมดตกไปโดยที่ไม่มีความผิด ตกไปโดยระบบ อันนี้จึงมองว่าไม่ถูกต้องจึงอยากเห็น กกต.หาทางออกทางอื่นด้วย
นอกจากนี้ยังมีความกังวลถึงระบบการเลือกไขว้ของแต่ละกลุ่มซึ่งผู้สมัครบางคนอาจไม่ทราบว่าต้องได้อย่างน้อย 1 คะแนนจากกลุ่มอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะมีผู้สมัครน้อยกว่าผู้ที่ต้องการเลือก ทำให้การได้คะแนนน้อยเพราะแต่ละกลุ่มอาจไม่รู้จักกัน และอาจไม่เลือกใครที่สุดแล้วในรอบจังหวัดจะไม่เหลือใครเลย กกต.ต้องเร่งทำความเข้าใจกับผู้สมัครทุกคน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews