Home
|
ไลฟ์สไตล์

1 เมษายน วันเลิกทาส

Featured Image

          วันที่ 1 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่คนไทยควรระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ นั่นก็คือ “การเลิกทาส” วันนี้ ไอ.เอ็น.เอ็น ได้สรุปเนื้อหาสำคัญไว้ให้แล้ว แล้วคุณจะรู้ว่าการเลิกทาสนั้นสำคัญขนาดไหน ประวัติศาสตร์ได้สอนอะไรเรามาบ้าง ไปอ่านกันเลย  

          ทาสคืออะไร

          เพื่อให้เห็นความสำคัญของการเลิกทาส เราไปรู้กันก่อนว่าทาสคืออะไรแล้วในอดีตทาสนั้นมีกี่ประเภท 

          หากค้นหาคำว่า “ทาส” ในภาษาไทย เราจะเจอคำจำกัดความว่า ทาส คือผู้ที่อุทิศตนแก่สิ่งที่เลื่อมใสศรัทธาหรือเป็นผู้ที่ยอมตนให้ตกอยู่ในอำนาจสิ่งใดสิ่งหนึ่งและที่น่าจะตรงกับประวัติศาสตร์มากที่สุดคือ ทาส คือผู้ที่ขายตัวเป็นคนรับใช้หรือที่นายเงินไถ่ค่าตัวมา 

          ทาส เป็นระบบใดๆที่มีการใช้หลักการของกฎหมายลักษณะทรัพย์สินที่ใช้กับผู้คน อนุญาตให้บุคคลเป็นเจ้าของ ซื้อและขายให้แก่บุคคลอื่นเป็นรูปแบบของทรัพย์สิน ทาสไม่สามารถไถ่ถอดตัวเพียงฝ่ายเดียวจากข้อตกลงและทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทน สรุปง่ายๆว่าค่าความเป็นมนุษย์นั้นลดลง  ทาสในอดีตเป็นเพียงแค่สิ่งของที่ถูกใช้งาน ใช้แลกเปลี่ยนกันเท่านั้นเอง

          ทาสในประเทศไทย 

          หลักฐานที่ชัดเจนเรื่องทาสในประเทศไทยตอนนั้นพบได้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ได้แบ่งทาสออกเป็น 7 ประเภท

  1. ทาสสินไถ่ เป็นทาสที่มีเยอะที่สุด ทาสประเภทนี้มาจากการขายตัวเป็นทาส เช่น พ่อแม่ขายลูก สามีขายภรรยา ขายตัวเอง 
  2. ทาสในเรือนเบี้ย ทาสที่เกิดขึ้นระหว่างที่แม่เป็นทาส 
  3. ทาสที่ได้รับมาด้วยมรดก ทาสที่ตกเป็นมรดกของนายทาส เพราะนายทาสเก่าเสียชีวิต
  4. ทาสท่านให้ ทาสที่คนอื่นให้มา
  5. ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑ์โทษ เกิดจากคนที่กระทำความผิดแล้วโดนลงโทษเป็นเงิน แต่ไม่มีเงินจ่าย คนที่มาช่วยจ่ายให้จะได้คนนั้นเป็นทาส 
  6. ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก ทาสประเภทนี้เกิดจากคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ประกอบอาชีพได้ เลยขายตนเพื่อขอความช่วยเหลือ
  7. ทาสเชลย เมื่อเกิดสงครามขึ้น ผู้ที่แพ้สงครามมีโอกาสถูกจับไปเป็นทาสเชลย

          จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ 

          การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี พ.ศ 2398 ประเทศสยามได้เปิดการค้าเสรีกับประเทศตะวันตก ในเวลานั้นประเทศต้องปฏิรูปหลายๆอย่าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริให้ชำระกฎหมาย เปลี่ยนแปลงแก้ไขเรื่องทาส เพื่อพัฒนาประเทศให้เท่าเทียมและยังเป็นการป้องกันภัยคุกคามจากมหาอำนาจต่างๆ 

          วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศ ‘พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย’ แก้ค่าตัวทาสใหม่ ให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี พออายุ 21 ปี ก็จะพ้นการจากเป็นทาส และยังห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีอีกด้วย

          ในที่สุดวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ นับว่าเป็นการเลิกระบบทาส ระบบไพร่ในประเทศไทย วันนี้เลยรู้จักกันใน วันเลิกทาส 

          ปัจจุบันทาสยังมีอยู่

          ในปัจจุบันทาสถูกเปลี่ยนรูปแบบไปอยู่ใน การค้ามนุษย์ ซึ่งความเป็นอยู่หรือศักดิ์ศรีนั้นแทบจะไม่ต่างจากทาสสมัยก่อน การค้ามนุษย์ก็เป็นระบบเดียวกัน ถูกนำไปขายเพราะไม่มีเงิน แรงงานขัดหนี้ ทาสแรงงาน ก็เป็นสิ่งที่เราเห็นได้ในปัจจุบัน 

          วันนี้ ไอ.เอ็น.เอ็น ไม่อยากให้ทุกคนเห็นแค่ความสำคัญของการเลิกทาส แต่ขอให้เห็นถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน เคารพซึ่งกันและกัน อยู่รวมกันไม่ว่าเราจะแตกต่างกันขนาดไหน นั่นถึงจะเรียกว่าเราเป็นมนุษย์ได้อย่างแท้จริง 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube