Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

อีเว้นท์คดีการเมือง 18 มิ.ย. ทุบหุ้น เชื่อมั่นทรุด ฉุดศก.

ลุ้นระทึกคดีการเมืองซึ่งจะกองรวมกันในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ประกอบด้วย 1.ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณายุบพรรคก้าวไกล 2.การถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากกรณีแต่งตั้งรัฐมนตรีที่มีปัญหาจริยธรรมคุณสมบัติ 3.พ.ร.ป.

 

 

 

 

การได้มาซึ่งสว.ขัดแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ และยังเป็นวันที่อัยการสูงสุดนัดอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” รับคำฟ้อง ซึ่งแน่นอนว่า ปัจจัยดังกล่าวย่อมสร้างความกังวลใจให้กับเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่น เพราะมีพรรคเพื่ออยู่ในสมการทางการเมืองที่เกิดขึ้น

 

 

 

และที่สำคัญ ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองดังกล่าว ส่งผลลบต่อตลาดหุ้นไทย ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติยังคงอยู่ในฝั่งขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง สะสมเป็นวันที่ 16 ติดต่อกัน รวมทั้งสิ้น 3.4 หมื่นล้านบาท โดยนักลงทุนส่วนใหญ่จะรอดูว่า ผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องกรณีของพรรคก้าวไกลและนายกฯเศรษฐา จะอยู่หรือไป เพราะผลลัพธ์ของ 2 เรื่องนี้ มีผลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด เนื่องจากเชื่อมโยงต่อนโยบายและความต่อเนื่องในการบริหารประเทศ

 

 

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า แรงกดดันทางการเมือง เดินหน้าเร็วกว่าความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และการเสริมประสิทธิภาพให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สะท้อนได้จากคดีสำคัญๆ ทางการเมือง เริ่มตั้นตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2567 ทยอยสะสมมาเรื่อยๆ 4 คดี โดยมากระจุกให้เห็นความเปลี่ยนแปลงตัวพร้อมกันในวันที่ 18 มิถุนายน

 

 

ทั้งนี้ การเมืองที่แรง เสถียรภาพตลาดหุ้นต่ำ นำไปสู่ FUND FLOW ต่างชาติไหลออกทุกวัน ซึ่งตลอด 3 สัปดาห์ หรือ 16 วันทำการที่ผ่านมา ทั้งขายหุ้น ขายผ่าน PROGRAM TRADING และยัง SHORT SELL หนัก กดดันดัชนีตลาดหุ้นไทยตกหนักอีก ซึ่งรายละเอียดแรงกดดันที่มากกว่าปกติ มีดังนี้
1. ตลอด 16 วันทำการ SET INDEX ปรับตัวลงหนักเกือบ 6%
2. ตลอด 16 วันทำการ ต่างชาติขายสุทธิ หุ้นไทยทุกวัน ด้วยมูลค่ารวมสูงถึง 3.1 หมื่นล้านบาท
3. ตลอด 16 วันทำการ PROGRAM TRADING ขายสุทธิ หุ้นไทยทุกวัน ด้วยมูลค่ารวมสูงถึง 2.8 หมื่นล้านบาท

และ 4. ตลอด 16 วันทำการ ยังมีมูลค่าการ SHORT SELL หนาแน่นถึง 9.7 หมื่นล้านบาท และมีสัดส่วนสูงถึง 13.45% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมดในตลาดหุ้น
นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่อีเว้นท์ใหญ่ทางการเมือง จะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคด้วยเช่นเดียวกัน
จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนพฤษภาคม 2567 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 60.5 และเป็นดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน โดย “นายธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ให้เหตุผลสำคัญที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่ำสุดรอบ 7 เดือน มาจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าการเมืองไทยเริ่มขาดเสถียรภาพหลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ 40 สว. เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี
รวมถึงกังวลเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ในอนาคตอันใกล้ หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามประเด็นร้อนทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพราะทุกการขยับ ทุกคำตัดสิน ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย เชื่อมโยงความเชื่อมั่นนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube