“วิษณุ” ห่วง พปชร. ยื่นแก้ รธน. เรื่องวิธีการเลือกตั้ง แต่เชื่อถ้า 3 ฝ่ายเห็นตรงกันก็เป็นเรื่องที่ดี ปัดตอบถูกฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังที่ได้เห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราของพรรคพลังประชารัฐ ว่าก็ดูสวยดี เป็นประเด็นที่ได้พูดถึงกันมานานแล้ว ซึ่งทั้งหมดมี 5 ประเด็น ยังมีความเป็นห่วงเรื่อง การแก้วิธีการเลือกตั้ง ก็คงได้มีการพูดคุยกันจะหมดแล้วทั้งพรรคพวกรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และวุฒิสภา หากเห็นชอบกันจริงก็เป็นเรื่องที่ดี
ซึ่งการแก้วิธีการเลือกตั้ง บัตร 2 ใบ ตนยังไม่ค่อยแน่ใจว่าหารือแล้วจะเห็นพ้องต้องกันจริงหรือไม่ หากเห็นพ้องกันก็ไม่เป็นปัญหา ส่วนอีก 4 ประเด็นเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ส่วนการแก้ไขมาตรา 114 จะทำให้การตรวจสอบงบประมาณน้อยลงหรือไม่นั้น นายวิษณุ ระบุว่า มาตราดังกล่าวไม่ได้มีการแก้ไขอะไรมากนัก แต่ไปแก้ไขบทกำหนดโทษ และทำให้ต้องไปแก้มาตรา 115 ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกันเท่านั้น และให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งหลักของมาตรานี้ยังอยู่ ซึ่งปัจจุบันเขียนบทกำหนดโทษไว้มาก ไล่ไปตั้งแต่คณะรัฐมนตรีไปจนถึง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ จึงได้ตัดส่วนนี้ออกไปและเห็นว่าไม่มีอะไรมากส่วนการแก้ไขในประเด็นห้ามแทรกแซงข้าราชการนั้นยังคงอยู่
ส่วนเรื่องการปฏิรูปประเทศ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่มีการให้แก้ไขให้สภาผู้แทนเข้ามารับผิดชอบด้วยและให้รายงานทุกหนึ่งปี จากทุกสามเดือน ส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพมองว่ามีการแก้ไขให้ดีขึ้น นายวิษณุ ย้ำว่า ห่วงอยู่เรื่องเดียว คือ เรื่องวิธีการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามจะทำให้พรรคเล็กที่เคยได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งใบเดียวจะมีปัญหาหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า อาจจะเป็นเช่นนั้น เพราะมีการไปแก้ว่าหากไม่ถึง 100 เขต ก็ไม่สามารถส่งปาร์ตี้ลิสต์ได้
โดยนายวิษณุ ปฏิเสธตอบ กรณีที่ฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างแก้ไขของพรรคพลังประชารัฐ เป็นแค่เป็นการลดกระแสสังคมและสืบทอดอำนาจของรัฐบาล นายวิษณุกล่าวว่า ก็ไม่ได้ว่าอะไร ถึงเวลาโหวตก็จะนับคะแนนเสียงกัน หากเกินกึ่งหนึ่งของสภาในวาระที่ 1-3 และวุฒิสภาต้องให้ความเห็นชอบ 1ใน 3 ก็ยังคงอยู่ อย่างน้อยก็เสร็จล็อตหนึ่งไปก่อน ยังไม่ถึงขนาดที่จะยืดอายุสภา หรือแม้กระทั่งการยุบสภาก็ไม่น่าจะเกี่ยวอะไร และในความเป็นจริงก็ยุบไม่ได้เพราะแก้วิธีการเลือกตั้ง ก็จะต้องไปแก้กฎหมายเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ ก็ต้องไปแก้กฎหมายลูกก่อน เพราะฉะนั้นจะรีบยุบไม่ได้
พร้อมระบุว่ากระบวนการต่างๆน่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน และนำเข้าสู่ที่ประชุมร่วม เพราะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ที่ว่าจะเห็นพ้องต้องกันหรือไม่ เมื่อยังไม่ไปสู่ประชามติ ในวาระที่ 1-3 ก็สามารถถามได้โดยไม่มีกำหนดเวลา
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มี.ค.64 อาจจะทำให้เกิดการปกปิดข้อมูลสำคัญ จนกระทบต่อการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้ยังไม่ได้เสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นขอให้ไปพูดกันในสภาฯ ทั้งนี้ตนได้เห็นร่างพ.ร.บ. นี้แล้ว แต่จะให้ตอบตรงนี้คงไม่ถูก เพราะไม่ได้สะดุดอะไร
ทั้งนี้หากมีคนทักท้วง หรือคัดค้านก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะกฎหมายทุกฉบับที่จะเข้าสภาฯ ก็มีคนท้วงทั้งนั้น ขนาดร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตที่คิดว่าจะดี ก็มีพรรคก้าวไกล ทักท้วงจนยังไม่ได้เข้าสู่สภาฯ ซึ่งพรรคก้าวไกลบอกว่าอยากได้ พ.ร.บ. คู่ชีวิต แต่ไม่ได้อยากได้แบบร่างฉบับนี้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news