แตงโมสีแดงหวานฉ่ำ ผลไม้ที่ได้กินคงดับร้อนชื่นใจ แถมเป็นผลไม้ที่หาทานง่ายราคาไม่แพงอีกด้วย หลายๆคนคงชอบผลไม้ชนิดนี้เป็นแน่แท้ แต่ใครจะรู้ไหมว่า“แตงโม”เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ใช้เหยียบย่ำเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมาอย่างยาวนานนับร้อยปี ประวัติศาสตร์ที่ใครๆ ก็อยากลบลืมมีที่มาอย่างไร แล้วในอดีตการแบ่งแยกเพื่อนมนุษย์ด้วยสีผิวสร้างความเจ็บปวดไว้ขนาดไหนวันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน
แต่เท้าความกันก่อนว่าห้ามพูดชวนกินแตงโมต่อหน้าคนผิวดำอย่างยิ่ง เพราะ เป็นหนึ่งในวัตถุที่ใช้เหยียดคนดำอย่างมากตั้งแต่สมัยที่้มีการค้าทาส ซึ่งเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกมายาวนาน อย่างกรณีของ “มาดอนน่า” นักร้องตัวเเม่ก็ยังโดนทัวร์ลง จากกรณีการโพสต์รูปบุญธรรมของเธอที่ไปขออุปถัมป์มาจากแอฟริกาถ่ายคู่กับแตงโม ที่ดูเผินๆหากเป็นในไทยก็คงเป็นเรื่องขำๆที่แม่ลูกเล่นกัน แต่หากเป็นที่อเมริกาแล้วละก็ แตงโมกับคนดำถือเป็นของแสลงที่คนขาวห้ามพูดคู่กันเด็ดขาด
หรืออีกตัวอย่าง คือกรณีของโรงเรียน Carondelet High School for Girls ในปี 2014 ประกาศเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเฉลิมฉลองเดือนกุมภาพันธ์ที่เป็น “เดือนประวัติศาสตร์คนดำ” โดยจัดเมนูพิเศษคือ แตงโม ไก่ทอด และขนมปังข้าวโพด ก่อนที่ต่อมาผู้ปกครองนักเรียนผิวดำจะส่งจดหมายถึงโรงเรียน เพื่อขอทบทวนเมนูอาหารเหล่านั้นใหม่ เนื่องจากมันเป็นสัญลักษณ์แห่งการกดทับคนผิวสีโดยที่โรงเรียนอาจไม่ทันได้คาดคิด เพราะทั้งสามเมนูที่กล่าวมานั้นคือภาพเหมารวมที่ถูกผูกติดกับคนดำมานับร้อยปีแล้ว
แล้วจุดเริ่มต้นมาจากไหน?
หากจะถามว่าทำไมแตงโมถึงกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ใช้เหยียดคนดำไปได้ ก็ต้องย้อนไปถึงสมัยที่ยังมีการค้าทาสในอเมริกา คนดำถูกบังคับให้ทำเกษตรกรรมเพื่อเจ้านาย ทั้งฝ้ายและไร่ในฟาร์มอื่นๆ จนถึงตอนที่ ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น ได้ประกาศเลิกทาสอย่างเป็นทางการ เหล่าทาสทั้งหลายที่ต้องตรากตำทำงาน พร้อมกับสิทธิความเป็นคนที่ถูกริดรอนในแต่ละวัน การได้รับอิสระกลายเป็นเสรีชนครั้งแรกคือเรื่องที่น่ายินดีปรีดาเป็นอย่างยิ่ง
หลังจากได้รับอิสรภาพ งานที่พอจะยังชีพพวกเขาต่อไปได้คือการเกษตร การค้าขายอย่างเเพร่หลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คือ “แตงโม” เพราะ เป็นผลไม้ที่ปลูกได้ง่ายสามารถนำไปขายได้ทุกตลาด ในตอนนั้นสำหรับคนขาวแล้ว แตงโม ก็คือ แตงโม แต่สำหรับคนดำแล้ว ผลไม้รสหวานทานง่ายนี้ เปรียบเสมือนเจตจำนงเสรี ตัวแทนเสรีภาพทางการเงิน จากที่เคยต้องรับใช้เจ้านายผิวขาว แต่บัดนี้พวกเขาได้ค้าขายเอง จึงมีแตงโมจากฟาร์มของคนผิวดำขายอยู่ทั่วทุกหนแห่ง
แต่ไม่รู้เพราะหวาดกลัวหรือชิงชังหรืออะไรก็แล้วแต่ที่หวั่นเกรงในอิสระของคนดำ ที่ดำรงชีพอยู่อย่างเสรีพอเพียง จึงยึดโยงดัดแปลงความเป็นอยู่อย่างสมถะนี้ให้ดูน่าเกลียดชัง นำเรื่องของการปลูกแตงโมขายเพื่อเลี้ยงชีพและพอเพียงนี้ ว่าเป็นการกระทำของผู้ที่ยากจนข้นแค้น จากแตงโมที่เคยหวานฉ่ำ ก็เริ่มกลายเป็นรสขมในเชิงสัญลักษณ์อย่างเลี่ยงไม่ได้
“สกปรก ขี้เกียจ ไม่รู้จักโต”
แตงโมที่เริ่มกลายเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ ถูกโยงไปสร้างมายาคติให้กับคนดำในอดีต ที่เชื่อว่าอดีตทาสแบบนี้ เป็นพวกไม่สะอาด ไม่ทำงานทำการ นอนกลิ้งกินแตงโมไปวันๆ กลายเป็นสร้างภาพจำสั้นๆว่า “สกปรก ขี้เกียจ ไม่รู้จักโต”
- สกปรก เพราะ การกินแตงโมที่มีรสหวานน้ำฉ่ำๆ ไม่ให้หกเลอะเทอะสะอาดสะอ้านเป็นเรื่องที่ยากอยู่
- ขี้เกียจ เพราะ การปลูกแตงโมเป็นเรื่องที่ง่ายดายยิ่งกว่าการประกอบชีพอื่น แถมการกินแตงโมไม่สามารถกินไปด้วยทำงานไปด้วยได้ ต้องนักพักและนั่งกินแบบจริง ๆ จัง ๆ เท่านั้น
- ไม่รู้จักโต เพราะ รสชาติที่หวานและสีแดงสดใสนั้น จริงๆ แล้วมีสารอาหารน้อยมากเป็นเหมือนขนมของเด็กๆ
กลายเป็นสามความเชื่อที่ถูกยัดเยียดสร้างภาพจำผิดๆ ให้แก่อดีตทาสผิวดำ ด้วยความ ”ชิงชัง” ล้วนๆ
การสร้างภาพจำให้แตงโม
ความจริงแล้วแตงโมก็ถูกเปรียบให้เป็นอาหารคนจนตั้งแต่อดีตมานมนาน เช่น คนงานชาวอิตาลี หรือชาวอาหรับ จนกระทั่งประเด็นทาสผิวดำผิวดำในอเมริกา การสร้างสัญญะให้แตงโมยิ่งเห็นเด่นชัด กลายเป็นหนึ่งในอาวุธทางวาจา และการเหมารวมเพื่อเหยียดสีผิวนั้นเอง
อย่างกรณีในอดีตการฉีดยาพิษใส่แตงโม เพื่อวางยาเพื่อนบ้านผิวดำก็มีมาแล้ว เพราะ เหมารวมว่า ”คนดำก็ต้องกินแตงโมสิ”
หากย้อนกลับไป ในสมัยที่มีการเลิกทาสไปเกือบ 20 ปีแล้ว มีคำกล่าวจากพรรคการเมืองว่า “คนดำเหล่านี้ยังไม่พร้อมกับอิสระหรอก” ในช่วงการเลือกตั้ง ค.ศ. 1880 พรรคเดโมแครตกล่าวหารัฐเซาท์แคโรไลนา ว่าใช้เงินภาษีของรัฐบาลไปกับแตงโมและความเอร็ดอร่อยส่วนตัว เพียงเพราะว่ารัฐนั้นเต็มไปด้วยประชากรผิวดำ
และในหนัง The Birth of a Nation ที่ปล่อยมาใน ค.ศ. 1915 นั้น คนผิวขาวสนับสนุนให้คนดำเลิกทำงาน แล้วมานั่งกินแตงโมเฉยๆ เพราะเชื่อว่าคนดำที่พวกเขามองว่าเกียจคร้านนั้น “ยังไม่พร้อมกับอิสรภาพ” บอกเลยว่าหนังเรื่องนี้แสดงถึงความอัปยศอดสูอย่างยิ่ง เพราะ นอกจากเนื้อหาในเรื่องที่เหยียดเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างรุนแรงแล้ว ตัวละครผิวดำในเรื่องก็แสดงโดยนักแสดงผิวขาวที่แต่งหน้าทาตัวดำเปลี่ยนสีผิวของตัวเอง หรือที่เรียกว่า Black Face ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง แต่สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นในยอดดินเเดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศเเห่งอิสรภาพของเสรีชน
แตงโมในเชิงประวัติศาสตร์จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของอาหารราคาถูกเพื่อประทังชีวิตไปวันๆของคนกลุ่มน้อย แต่ถ้าคุณคิดว่าคนกลุ่มน้อย คือ คนกลุ่มที่ไม่มีพลังอำนาจในตอบโต้กับการเหยียดที่ซ่อนไว้ในแตงโมแล้วละก็ คุณคิดใหม่ได้เลย
“โอบาม่าแปรงฟันด้วยยาสีฟันรสแตงโม”
มุกตลกที่ซ่อนการเหยียดเอาไว้ในสัญญะของเเตงโม ในหนังสือพิมพ์ Boston Herald ที่แซะอดีตประธานาธิบดีไว้ ซึ่งมุกแฝงนัยของการเหยียดสีผิวด้วยแตงโมนี่เอง เป็นหลักฐานว่าขนาดคนที่มีอำนาจและเป็นถึงผู้นำประเทศอย่างโอบาม่าเอง ก็หนีการถูกเหยียดไม่พ้น
แต่ไม่ได้มีแค่แตงโมน่ะสิ
กล้วย ก็เป็นหนึ่งในสัญญะที่ใช้ในการเหยียดเช่นกัน ซึ่งมีพื้นเพคล้ายกับแตงโมเลย ที่มองว่ากล้วยเป็นผลไม้ที่นำเข้ามาจากชาติพันธุ์ที่ต่ำต้อยกว่าชาวยุโรปเอง รวมถึงเป็นหนึ่งในยอดอาหารอันโอชะ ของลิงป่า ซึ่งพวกเขาเปรียบผู้ที่อพยพผิวดำชาวแอฟริกาว่าเป็น”ลิงป่า”ที่ชอบกินกล้วยนั้นเอง
หากให้ยกตัวอย่างก็คงเป็นประเด็นของนักฟุตบอลในปัจจุบัน ที่ถูกแฟนบอลฝ่ายตรงข้ามปากล้วยใส่เพื่อแสดงสัญญะว่าพวกนักเตะผิวดำเป็นแค่ลิงป่าที่ชอบกินกล้วยเท่านั้น
ไก่ทอด ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนขาวยัดเยียดสร้างภาพจำให้กับคนดำ ว่าพวกเขาต้องคู่กับไก่ทอด เพราะในอดีตทาสผิวดำที่อยู่ในบ้านเจ้านาย ส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาติให้เลี้ยงสัตว์ใหญ่ชนิดใด เว้นแต่ “ไก่” นั้นเอง ซึ่งก็เหมือนกรณีของแตงโมหรือกล้วยอีกนั้นแหละ อ้างว่าเป็นอาหารของผู้ที่ต่ำต้อยกว่าบ้างล่ะ บ้างก็ว่าการกินไก่มันเลอะเทอะต้องแทะจนสกปรก และอีกสารพัดเหตุผล ฯลฯ
ถึงขั้นเป็นหนึ่งในสิ่งที่คนดำไม่ทำกันเลย คือ การแทะไก่ในที่สาธารณะ พวกเขาไม่ต้องการสร้างภาพจำ รวมถึงไม่อยากให้ใครมามองพวกเขาแย่ๆ แบบนั้นอีก
คนไทยล่ะ?
“ในประเทศไทยการพูดเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อไปในทางเหยียดผิวคงไม่มีเห็นเท่าใดนัก
…….อย่างนั้นหรือ?”
ก็จริงอยู่ที่ในสยามชาติการสร้างสัญญะภาพด้วยผลไม้หรือสิ่งของที่สื่อไปในทางเหยียดผิว ก็คงนึกออกได้ยาก แต่หากมองลึกลงไปในวัฒนธรรมไทยหรือวรรณคดี การพูดถึงสิ่งที่มีผิวดำก็ไม่ได้เป็นการสื่อถึงสิ่งที่น่าอภิรมย์นัก ไม่ว่าจะเป็น เงาะป่า ที่ต้องถอดรูปให้ภายในเป็นชายรูปงาม ข้าวนอกนา จนไปถึงจรกา รูปชั่วตัวดำ ปากหนา จมูกโต ใน อิเหนา ซึ่งเต็มไปด้วยพรรณนาโวหาร ยังไม่นับรวมถึงบทละครต่างๆ ที่ส่งเสริมค่านิยมการดูแคลนความงามที่ไม่ตรงตามพิมพ์นิยมทั้งสิ้น จนถึงวันนี้ค่านิยมในความขาวใสของคนไทยก็ยังฝังรากลึกและพบเห็นได้ในทุกมิติของชีวิต
แต่ถ้าหากพูดถึงกรณีที่ดังที่สุดก็คงเป็นโฆษณาของยาสีฟันยี่ห้อหนึ่งที่ดังไกลไปทั่วโลก
การสร้างภาพเหมารวมเป็นสิ่งที่ผิด
ยังไงการเหมารวมละสร้างภาพจำเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ ไม่ใช่เพียงแค่การเหยียดสีผิว แต่รวมไปถึงการเหยียดชนชั้นฐานะที่ไม่ควรมีอยู่อีกด้วย หากเทียบกับในไทยแล้วสีผิวอาจไม่ใช่ปัญหาที่ฝังรากลึกลงในไทยมากนัก แต่การเหยียดชนชั้นนี่แหละที่สร้างความบอบช้ำน้ำใจให้คนไทยมานัดต่อนัดแล้ว
การสร้างภาพจำของคนอีสานว่าชอบกิน ลาบ ข้าวเหนียว ส้มตำ มาเป็นถ้อยคำดูถูกว่าเป็น ”คนบ้านนอก” ไร้ศักดินาสร้างภาพจำว่าอาหารพื้นบ้านเหล่านี้ เป็นเพียงอาหารสำหรับคนจนเท่านั้นเอง
หรือหากให้เห็นชัดกว่านั้น วาทะกรรมที่เป็นตำนานของไทยด้วยวลีที่ว่า “จน เครียด กินเหล้า” ,มันทำไมกันล่ะ? หลายคนให้ความเห็นและตั้งคำถามไว้ว่า คนจน มันต้องเครียด มันต้องกินเหล้าอย่างนั้นหรือ ไม่ว่าจะฐานะไหนก็เสพสมความสุขจากการดื่มได้ไม่ใช่หรือไร แต่ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น คือผู้ที่สร้างวลีนี้ขึ้นมาคือ สสส. องกรค์ภาครัฐที่ควรเป็น”ผู้ต่อต้าน”กลับกลายเป็น”ผู้สร้าง”เสียอย่างนั้น ใครจะจน ใครจะเครียด ใครจะกินเหล้า มันก็เรื่องของเขาไม่จำเป็นต้องไป ตราหน้า-เหมารวม คนผู้นั้นหรือคนผู้นี้เลย
การเหยียด การเหมารวม ยัดเยียด เป็นสิ่งที่ควรหมดไปจากประเทศไทย เพราะ การกระทำเหล่านี้สร้างความทุกข์ทนให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความเป็นอื่น ในสังคมโลกมาอย่างยาวนาน หากมนุษย์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่เจริญและมากไปด้วยปัญญาแล้วละก็ การกระทำเหล่านี้ก็ควรสูญสิ้นไปทิ้งมันไว้เป็นอดีตที่ไม่ควรนึกหวนคืน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอบคุณข้อมูล