รมว.กต. ตอบกระทู้สภาฯ โต้ “สส.รังสิมันต์” ยันไม่พบหลักฐานธนาคาร-รัฐบาลไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกรรมซื้ออาวุธเมียนมา พร้อมย้ำไทยไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบกระทู้ถามสด สภาผู้แทนราษฎร ของนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กรณีปรากฏระบบธนาคารไทย เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมซื้อ-ขายอาวุธ เพื่อเอื้อให้เกิดการสูญเสียสงคราม และความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในเมียนมา ตามรายงาน Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar ที่นายทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาจัดทำขึ้น
โดยนายมาริษ ชี้แจงยืนยัน และย้ำจุดยืนของประเทศไทยว่า ประเทศไทย ไม่มีนโยบายสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่สนับสนุนให้มีการกระทำกิจกรรมใด ๆ ทั้งทางธุรกรรม หรือไม่เกี่ยวกับธุรกรรม ไปทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต หรือกระทำการไม่ถูกต้อง ขัดต่อกฎบัตรองค์การสหประชาชชาติ รวมถึงเคารพความสัมพันธ์ทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน
ส่วนการดำเนินการ และการติดตามตามรายงานดังกล่าวฯ นั้น นายมาริษ ยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง และสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
โดยพบว่า รายงานฯ ดังกล่าวของนายทอม แอนดรูว์ส นั้น เป็นเอกสารประกอบการประชุม ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า “ไม่พบหลักฐาน” ที่ธนาคารไทยที่ถูกอ้างถึงในรายงานรับรู้ว่าธุรกรรมดังกล่าว เป็นการจัดซื้อยุทธภัณฑ์ หรือรัฐบาลเมียนมาได้รับประโยชน์ และไม่พบหลักฐานว่า รัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรการดังกล่าว แต่ทางการไทยไม่ได้นิ่งเฉย และมีการตรวจสอบจริงจัง รวมทั้งการออกคำชี้แจงจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.
และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ป.ป.ง. ที่แถลงว่า มีมาตรการมาตรฐานทางการเงิน และไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธให้แก่องค์กรทหารเมียนมา และให้ความสำคัญต่อการห้ามนำธุรกรรมทางการเงินของภาคธนาคาร ไปใช้เพื่อจัดซื้ออาวุธไปละเมิดสิทธิมนุษยชน ประกอบกับโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกคำชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา โดยย้ำท่าทีตามแถลงการณ์ ธปท. และ ป.ป.ง. รวมถึงธนาคารพาณิชย์หลายแห่งด้วย
นายมาริษ ยังเปิดเผยอีกว่า เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทย ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHRC โดยย้ำท่าที และคำแถลงการณ์ของ ธปท., ป.ป.ง. และธนาคารพาณิชย์หลายแห่งของไทย รวมทั้งยืนยันนโยบายรัฐบาลไทย ที่ไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการสังหารประชาชนในประเทศใดก็ตาม
และหากผู้เสนอรายงานพิเศษสามารถให้ข้อมูลของบริษัทที่ชัดเจนต่อทางการไทยได้ ทางการไทยก็พร้อมตรวจสอบเพิ่มเติม แต่นายทอม แอนดรูว์ส ผู้เสนอรายงานได้ยอมรับทางลายลักษณ์อักษร และทางวาจากับเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยฯ ว่า การตรวจสอบทางการเงินดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องง่าย และยินดีที่ทางการไทย มีคำชี้แจงอย่างรวดเร็ว รวมถึงตรวจสอบอย่างรวดเร็ว เป็นระบบ
นอกจากนี้ นายมาริษ ยังยืนยันด้วยว่า รัฐบาลไทยพร้อมให้ความร่วมมือ ตรวจสอบ กรณีมีการร้องเรียนจากต่างประเทศ และมีหลักฐานที่ชัดเจนต่อธุรกรรมของบริษัทในประเทศไทย ที่เข้าข่ายการทำธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน สุ่มเสี่ยงการกระทำผิด ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้น ได้มีการประชุม และมอบหมายให้ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับคำร้องขอ ไปตรวจสอบรายละเอียด
โดยได้ดำเนินการตามกระบวนการที่ชัดเจนตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ จะเรียกประชุมเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม ในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้
ส่วนกรณีที่นายทอม แอนดรูว์ส ผู้เสนอรายงานมีนัยให้ยุติการมีธุรกรรมกับลูกค้า หรือธนาคาร ที่ทางการเมียนมาเป็นเจ้าของ เสมือนการคว่ำบาตรทางการเมียนมานั้น นายมาริษ ชี้แจงว่า จะไม่เป็นผลดีกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไทยต้องการเห็นความสัมพันธ์ที่ดีในอนาคต พร้อมย้ำว่า ประเทศไทย ให้ความสำคัญต่อหลักมนุษยธรรม
และคำนึงถึงผลกระทบต่อการคว่ำบาตร ที่จะกระทบในวงกว้างต่อชาวเมียนมา ที่ประสบความยากลำบากต่อเหตุการณ์ที่เกิดขี้นอยู่แล้ว จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และไทยเป็นเพื่อนบ้านสำคัญ มีการค้าขายชายแดนระหว่างกัน จึงต้องรักษาความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ 2 ประเทศ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews