Home
|
ข่าว

อีก 3 วัน “เศรษฐา” จะเหมือน “ทักษิณ” หรือ “ยิ่งลักษณ์”

 

 

 

 

นับถอยหลังอีกแค่ 3 วัน ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัย คดี 40 สว.ร้องถอนถอนนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” กรณี แต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรี หลายคนเป็นกังวลว่าการเมืองจะเกิดสุญญากาศอีกหรือไม่

 

 

 

 

ดิจิทัลวอลเล็ตที่ลงทะเบียนไปแล้ว จะเป็นหมันหรือไม่ หาก นายกฯเศรษฐา ถูกถอดถอนด้วยข้อหานี้ เพราะมีนักวิชาการหลายคนคาดเดาว่า “เศรษฐา” อาจต้องจบเส้นทางไว้แค่นี้ เหมือน “ก้าวไกล” ที่ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปเพราะศาลรับธรรมนูญ

 

ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ล้วนส่งผลโดยตรงต่อภาพใหญ่การเมืองทั้งสิ้น เพราะหากเป็นคุณ รัฐบาลเดินหน้าได้เต็มตัวทุกนโยบายที่ประกาศไว้ ก็จะถูกขับเคลื่อน ปัญหาของประชาชนก็จะได้รับการแก้ไข ไม่ต้องหยุดชะงัก แต่หากผลออกมาเป็นโทษ ทุกอย่างก็จะหยุดชะงัก ต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่ตามรัฐธรรมนูญผ่านกลไกของสภาอีกครั้ง

 

ซึ่งยากจะคาดเดาว่า ผลกระทบในด้านเศรษฐกิจจะร้ายแรงมากแค่ไหน เพราะไม่อาจเอาไปเทียบกับเหตุการณ์ หรือช่วงเวลาที่หลายนายกรัฐมนตรีในอดีต ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหา และถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ให้พ้นจากตำแหน่ง ได้ เพราะเงื่อนไขมันแตกต่างกันออกไป

 

นับจากอดีตถึงปัจจุบัน 27 ปีของศาลรัฐธรรมนูญ เคยตัดสินชี้ขาด ชี้ชะตาผู้นำประเทศมาแล้ว 4 คน ประกอบด้วย “ทักษิณ ชินวัตร” ในเดือนสิงหาคม 2544 โดยศาลมีมติ 8 ต่อ 7 ให้พ้นผิด ในข้อกล่าวหา ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินอันเป็นเท็จ จากกรณีซุกหุ้นไว้กับคนรับใช้ และคนขับรถ จนนำมาซึ่งวลีเด็ดในยุคนั้น “บกพร่องโดยสุจริต”

 

ส่วนคนต่อมาที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และมีอันต้องพ้นจากตำแหน่ง คือ ” ปี พศ.2551 ตัดสินให้ “สมัคร สุนทรเวช” พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะรับเงิน 3,000 บาท จากการเป็นพิธีกร รายการทำอาหารออกทีวี ต่อเนื่อง

 

คนที่ 3 “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องพ้นจากตำแหน้งรักษาการหลังประกาศยุบสภาแล้ว เมื่อ ปี 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ จากกณีมีส่วนใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ ส่วนคนสุดท้ายคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งถูกร้องถึง 4 คดี และรอดทั้งหมด

 

โดยในปี 2562 คดีคดีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ต่อมาในปีเดียวกันก็ถูกร้องขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ศาลมีคำวินิจฉัยเป็นเฉกฉันท์ว่า ตำแหน่งหัวหน้าคสช.มาจากการเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็นการใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์ที่เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ

 

ดังนั้น จึงไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ ส่วนในปี 2563 คดีบ้านหลวง ศาลก็ยังมีมติเป็นเอกฉันท์เช่นเดิม ว่าไม่ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบภายในของกองทัพบก ก่อนปีท้ายในปี 2565 คดีดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี

 

โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 ให้รับคำร้อง และเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 สั่งให้ยุดปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่ 30 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำสถิติเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2

 

ที่หลุดพ้นทุกข้อกล่าวหาในศาลรัฐธรรมนูญ ต่อจาก “ทักษิณ” ส่วน นายกฯ”เศรษฐา” ผู้ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จะมีชะตากรรม เหมือนกับ “ทักษิณ” และ พล.อ.ประยุทธ์ ที่รอดพ้นอุ้งมือของศาลรัฐธรรมนูญได้บริหารประเทศต่อ หรือจะเดินซ้ำรอย อดีตนายกฯ”สมัคร และ นส.ยิ่งลักษณ์” คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปในอีก 3 วันข้างหน้านี้

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube