Home
|
ทั่วไป

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย ”SiC“ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา คว้ารองแชมป์โลกอันดับ 1

Featured Image

 

 

 

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย SiC โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาคว้ารางวัลรองแชมป์โลกอันดับ 1 การแข่งขัน RoboCup 2024 “Junior Rescue”ระดับนานาชาติ

 

 

นักเรียนสาขาเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัว ชั้นปีที่ 3 โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน World RoboCup 2024 “Junior Rescue” ระหว่างวันที่ 15 – 22 กรกฎาคม 2567 ณ เมืองไอนด์โฮเวน ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 หุ่นยนต์กู้ภัย “Junior Rescue” ประจำปี 2024 เป็นครั้งแรกให้กับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาและประเทศไทย

 

 

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า การแข่งขัน Robocup ช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากร และเพิ่มจำนวนบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ของประเทศให้มีความสามารถในระดับสากล สามารถพัฒนาต่อยอดงานวิจัย รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายการพัฒนาความสามารถของนักประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษาไทย ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงระหว่างประเทศ โดยสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มีปรัญญาที่นําไปสู่พันธกิจ

 

 

 

 

 

ภายใต้พระราชดําริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือ “เรียนคู่งาน งานคู่เรียน“ เพื่อต้องการสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ออกไปเป็นคนทํางานที่ดี มีวินัยและมีทักษะของวิชาชีพ อีกทั้งปัจจุบันอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือสําคัญที่ช่วยในการทํางานด้านต่างๆ ทั้งนี้สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มีสถานประกอบการที่มีทักษะการงานตรงกับความต้องการของนักเรียน นักศึกษา เพื่อเป็นสถานที่ฝึกงานเพราะการปฏิบัติถือเป็นหัวใจสําคัญ จึงต้องมีระยะการฝึกงานที่ยาวนานกว่าที่อื่น เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษา สามารถเรียนรู้ทักษะต่างๆและเทคนิคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

 

ด้าน ดร.นวลอนงค์ ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เริ่มจากการเข้าแข่งขัน Thailand Open Robotics Competition 2024 รุ่น Junior Rescue ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง ชุมนุม iRAP คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกับ iMAKE Innovation และภาคเอกชน จัดทำโครงการการแข่งขันหุ่นยนต์สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือสายอาชีวศึกษา

 

 

 

ทางสาขาฯ จึงส่งนักเรียน ระดับ ปวช.2 ในขณะนั้น เข้าร่วมคัดเลือกการแข่งขันและนักเรียนได้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ โดยเริ่มจากการเข้าอบรมรอบ Onsite ในวันที่ 28-29 กุมภาพันธ์ และวันที่ 7-8 มีนาคม 2024 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนคร และเข้ารอบชิงชนะเลิศ จนได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เมื่อวันที่ 30-31 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์การค้า Paradise Park ศรีนครินทร์ ในนามทีมหุ่นยนต์ “SiC” หรือชื่อเต็มคือ Robotic SuperSmart Intelligent Creative

 

 

 

 

นอกจากนี้ นายอดิศักดิ์ ดวงแก้ว อาจารย์ที่ปรึกษาและเป็นผู้ดูแลควบคุมทีม กล่าวเพิ่มเติมว่า รายการนี้เป็นการแข่งขันสร้างหุ่นยนต์นอย่างรวดเร็วสําหรับงานกู้ภัย ซี่งนักเรียนที่ส่งไปมีความรู้ความสามารถ ตอบโจทย์กับการแข่งขันรายการนี้เป็นอย่างมาก แม้จะมีเวลาเตรียมตัวเพียงแค่ 1 เดือนกว่าเท่านั้น เนื่องจากทีมที่ชนะเลิศขอถอนตัว ซึ่งหลังทราบว่าจะได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันรายการระดับโลกก็ได้ให้โจทย์กับนักเรียนในการพัฒนาต่อยอดจากหุ่นยนต์รุ่นก่อนหน้านี้ที่ใช้แข่งขันในประเทศ

 

 

 

จนออกมาเป็นหุ่นยนต์รุ่นปัจจุบัน ที่มีความสามารถและมีความเสถียรภาพเหนือกว่าหุ่นยนต์รุ่นก่อนหน้านี้ เพราะในการแข่งขันจะต้องมีการเคลื่อนที่และทําภารกิจผ่านการแสกนคิวอาร์โค้ดตามด่านต่างๆที่แตกต่างกันออกไปตั้งแต่ระดับง่ายไปจนถึงระดับยากซึ่งผลก็ออกมาตามเป้าหมายที่วางเอาไว้และสามารถนําโค้ดหรือรูปแบบการสร้างไปผลิตเพื่อใช้งานได้จริง

 

 

 

 

ขณะที่ นายภคิน เควิน ชาน นักเรียนสาขาเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัว ชั้นปีที่ 3 โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ตัวแทนทีม “SiC” กล่าวว่า ทีมมีเวลาเตรีมตัวเพียงแค่เดือนกว่าๆ โดยเริ่มจากการนําแบบหุ่นยนต์ตัวเก่ามาพัฒนาต่อยอดจากเดิมที่มีกริปเปอร์หรือแขนที่ช่วยในการยกตัว แต่ไม่มีตีนตะขาบ จึงเพิ่มส่วนนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะช่วยให้สามารถลุยฝ่าด่านได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่ง “ตีนตะขาบ” ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นของหุ่นยนต์ตัวนี้ ส่วนเรื่องซอฟต์แวร์และการเขียนโค้ดก็เป็นการศึกษาจากหุ่นยนต์ตัวเก่าว่ามีข้อเสียอย่างไรบ้าง

 

 

 

อาจะเคลื่อนที่ช้าหรือเร็วเกินไป เพื่อมาปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งนี้ทุกคนในทีมได้ใช้เวลาหลังเลิกเรียนมาช่วยกันผลิตหุ่นยนต์ตัวนี้ขึ้นมาถึงประมาณ 22.00 น. ในช่วงวันจันทร์ – วันศุกร์ ส่วนเสาร์ – อาทิตย์ ก็จะมีการปริ้นงานหรือออกแบบกันบ้าง แต่ผลที่ได้รับก็คุ้มค่าเพราะเป็นการแข่งขันรายการระดับโลกครั้งแรกแต่สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 มาครองได้ สําหรับสมาชิกทีมหุ่นยนต์ ”SiC“ ประกอบด้วย นายอันดามัน ผิวเกลี้ยง นายภคิน เควินชาน นายณัฐชนนท์ ศิริคำหอม นายณภัทร ชอบรัมย์ และนายธนันชัย ไชยแรง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube