5 โรคหน้าร้อน ที่ต้องระวัง
5 โรคหน้าร้อน ของประเทศไทยที่นับวันยิ่งร้อนขึ้นเรื่อยๆ หลายคนมักคิดว่าอากาศร้อนนี่แหละที่จะทำให้เชื้อโรคและเชื้อไวรัสต้องตายหมดอย่างแน่นอน ฤดูนี้คงไม่มีโรคร้ายอะไรแน่ๆ แต่คิดผิดแล้ว ในฤดูร้อนมีหลายโรคที่มาจากอากาศร้อน ว่าแต่จะมีโรคอะไรบ้าง ไปอ่านกันเลย
1.ผิวหนังไหม้แดด (Sunburn)
ช่วงหน้าร้อนหรือเวลาไปทะเลแล้วตากแดดไปสักพัก เคยมีความรู้สึกแสบๆผิวจนรู้สึกปวดแสบปวดร้อนกันหรือเปล่า นี่ล่ะคืออาการผิวหนังไหม้จากแดด เนื่องจากผิวของเราโดนความร้อนและรังสีจนทำให้ผิวหนังไหม้และเกิดอาการแสบ (คิดภาพเหมือนเวลาเราย่างเนื้อ) โดยอาการนี้จะไล่ตั้งแต่ แสบผิว ผิวแดง เริ่มปวดมากขึ้น จนไปถึงขั้นพุพองเหมือนเวลาโดนน้ำร้อนลวกได้เลย
ผลหรือความช้าเร็วที่เกิดขึ้นจะอยู่กับตัวบุคคล ผิวขาวจะเกิดได้ง่ายกว่าเนื่องจากเม็ดสีเมลานินในผิว ยิ่งผิวขาวก็ยิ่งถูกแดดเผาได้เร็ว แต่การป้องกันนั้นก็ไม่ยาก พยายามหลีกเลี่ยงแดดในเวลากลางวันถึงบ่าย หากจำเป็นก็กางร่มหรือใส่เสื้อผ้าที่ช่วยปกปิด หรือจะทาครีมกันแดดเป็นประจำจะช่วยได้เยอะเลย สำหรับใครที่กำลังอยากซื้อครีมกันแดด แต่ไม่รู้จะซื้อแบรนด์ไหนดี สามารถดูได้ที่ แนะนำ 5 ครีมกันแดดที่ใช้ดีจนต้องซื้อซ้ำ ส่วนใครที่ผิวไหม้จากแดดก็สามารถใช้ครีมบำรุงทาได้ แต่ถ้าหากเป็นหนักมากๆแนะนำว่าควรไปพบแพทย์
2.ลมแดด (Heat Stroke)
เราอาจจะได้ยินว่าคนเป็นลมแดดกันบ่อยๆ หรือในนักกีฬาหรือคนที่อยู่กลางแจ้งจะมีอีกคำที่เราได้ยินคือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) อาการนี้เกิดจากเวลาเราตากแดดนานๆทำให้ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้ภายในร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น จนสมองไม่สามารถควบคุมการทำงานได้ เพราะอย่าลืมว่าในร่างกายเราประกอบไปด้วยน้ำ พอตากแดดนานๆน้ำในร่างกายมันก็เดือด ร่างกายเลยทำงานผิดปกตินั่นเอง อาการนี้มีวิธีสังเกตอยู่ โดยปกติเมื่อคนเราตากแดดเหงื่อจะออก แต่อาการฮีทสโตรกนี้เหงื่อจะไม่ออก ตัวจะเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ เริ่มปวดหัวแล้วจะเป็นลมไปในที่สุด
วิธีป้องกันหรือแก้ไขคือ ดื่มน้ำบ่อยๆหากต้องอยู่ในอากาศที่ร้อนจัด เพื่อให้ร่างกายได้คลายความร้อน หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีแดดจัด ใส่เสื้อผ้าที่ช่วยระบายความร้อนได้ดี
3.ผดร้อน (Prickly Heat)
เคยสังเกตกันไหมว่าเวลาหน้าร้อนเรามักจะมีผด ผื่นเล็กๆสีแดงๆขึ้นโดยเฉพาะบริเวณหน้าอก คอ หลัง หรือบริเวณจุดอับต่างๆ สิ่งนี้เรียกว่า ผดร้อน เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อที่พยายามหลั่งขึ้นมาเพื่อจะคลายความร้อนให้กับร่างกาย อาการผดร้อนมักเกิดในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีน้ำหนักตัวค่อนข้างมาก รวมไปถึงคนที่ใส่เสื้อผ้ารัดๆ
โดยเมื่อผดที่ขึ้นจะมีอาการคันหรือแสบ แต่ผดพวกนี้ก็สามารถหายได้ โดยหลักๆคือให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทุกเช้า-เย็น หลังออกกำลังกายหรือมีเหงื่อออกมากๆ หลีกเลี่ยงการตากแดด ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
4.อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)
หนึ่งโรคที่หลายคนไม่ได้ตั้งใจจะเป็นแต่เป็นกันมากที่สุดอย่างโรคอาหารเป็นพิษ เนื่องด้วยอากาศที่ร้อนทำให้อาหารต่างๆที่วางทิ้งไว้นั้นเกิดมีเชื้อโรคขึ้นมา และในหน้าร้อนนี้เองที่ทำให้เชื้อโรคหลายตัวเจริญเติบโตได้ง่าย เมื่อเราทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการมีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระมากกว่าปกติจนทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงช่วงในหน้าร้อนนี้ก็จะเป็นพวก ลาบ ยำกุ้งเต้น ยำทะเล อาหารหรือขนมที่มีส่วนผสมของกะทิสด ขนมจีน ข้าวมันไก่ ส้มตำ และเน้นทานอาหารที่พึ่งปรุงสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่ค้างคืน อาหารที่เริ่มมีกลิ่นไม่ควรรับประทาน
5.โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ (Rabies)
มีความเชื่อกันในหน้าร้อนต้องระวังโรคพิษสุนัขบ้า แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆแล้วโรคนี้มีได้ทุกฤดูเลย แต่สาเหตุที่มักให้ระวังในช่วงฤดูร้อนเป็นพิเศษ อาจจะเป็นเพราะเด็กๆลูกหลานของเราอยู่ในช่วงปิดเทอมและหลายครั้งที่พวกเขามักไปเล่นกับสุนัข แมว หรือสัตว์อื่นๆ ทำให้มีโอกาสถูกกัดได้เยอะกว่าช่วงอื่นนั่นเอง
อาการของโรคนี้ ผู้ที่โดนกัดเริ่มแรกมักมีอาการปวดเมื่อยตัว ไข้ต่ำ เบื่ออาหาร รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดหรือคันบริเวณที่ถูกกัด หลังจากนั้นเริ่มมีอาการทางระบบประสาท เช่น หงุดหงิด กลัวแสง กลืนอาหารลำบาก น้ำลายไหล เลยเป็นที่มาของชื่อโรคกลัวน้ำ
วิธีป้องกันและรักษา ระวังกับการเล่นหรือเข้าไปใกล้กับสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงต่างๆ หากถูกกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง แล้วรีบไปพบแพทย์ในทันที
สรุปในหน้าร้อนแบบนี้สิ่งที่ควรระวังคือ ไม่ตากแดดนานเกินไป ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงอาหารที่ค้างคืน กินอาหารที่สุกปรุงใหม่ ระวังการเล่นกับสัตว์ต่างๆ ที่สำคัญคือต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เช่น ทานผลไม้หน้าร้อนที่ดีต่อสุขภาพ หรือหา เครื่องดื่มคลายร้อน ก็เป็นทางเลือกที่ดี
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news