กลายเป็นดราม่ามหากาพย์ที่อยู่ต่อเนื่องมายาวเกือบ 4 ปี สำหรับกรณีของ ครูไพบูลย์ แสงเดือน กับอดีตภรรยา เอ๋ มิรา ชลวิรัลวานิศร์ ที่มีคดีความกันต่อเนื่องมายาวนาน
มหากาพย์ ครูไพบูลย์-เอ๋ มิรา
– จุดเริ่มต้นของการฟ้องร้องระหว่างคู่อดีตสามีภรรยา เอ๋ มิรา ชลวิรัลวานิศร์ ยื่นฟ้องอดีตสามี ครูไพบูลย์ แสงเดือน เกิดขึ้นเมื่อ เดือนสิงหาคม ปี 2564 เมื่อ เอ๋ มิรา ได้ไปออกรายการดัง เป็นการเปิดใจปมปัญหาบ้านแตก
– กันยายน 2564 เอ๋ มิรา ได้รับหมายศาลจากอดีตสามี ครูไพบูลย์ ที่ฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ส่งผลให้ภรรยาใหม่ กระต่าย พรรณนิภา เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยมีการเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1 ล้านบาท
– ภายในเดือนเดียวกัน (กันยายน 2564) เอ๋ มิรา แท็กทีม ประจักษ์ชัย ไหทองคำ งัดหลักฐานยื่นฟ้อง ครูไพบูลย์ คดีพรากผู้เยาว์และกระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ศาลจังหวัดเลย ซึ่งเป็นคดีอาญา คดีดังกล่าวสามารถยื่นฟ้องได้แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เพราะคดีดังกล่าวไม่มีอายุความ
– กุมภาพันธ์ 2566 ศาลได้พิพากษาออกมา ตัดสินคดีพรากผู้เยาว์ จำเลย หรือ ครูไพบูลย์ มีความผิดอาญามาตรา 319 จำคุกกระทงละ 2 ปี 4 กระทง จำคุก 8 ปี ชดใช้ค่าเสียหาย 350,000 บาท ไม่รอลงอาญา
แม้ว่าศาลชั้นต้นจะตัดสินแบบนี้แล้ว แต่ครูไพบูลย์ก็ไม่หวั่น ได้ออกมาไลฟ์ว่า ไม่ว่าศาลจะตัดสินมาแบบไหนก็ต้องอุทธรณ์ ผมก็ต้องใช้สิทธิ์ของผม นี่คือครั้งแรกที่ผมได้ขึ้นศาล ยังพูดอะไรไม่ได้ จนกว่าทุกอย่างจะถึงที่สิ้นสุด
– มิถุนายน 2567 เอ๋ มิรา โพสต์เดือด ไม่ได้รับค่าเลี้ยงดูบุตรจาก อดีตสามี ครูไพบูลย์
– ล่าสุด 3 กันยายน 2567 ศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก ครูไพบูลย์ แสงเดือน 8 ปี ในคดีพรากผู้เยาว์ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่รอการลงโทษ
ทางด้าน จำเลย หรือ ครูไพบูลย์ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นฎีกา ศาลชั้นต้นรับคำร้องแล้ว ส่งศาลฎีกาเพื่อพิจารณา จนกระทั่งเวลา 16.30 น. คำสั่งยังไม่ลงมายังศาลชั้นต้น จึงออกหมายขัง ส่งตัวไปรับโทษที่เรือนจำจังหวัดหนองบัวลำภูต่อไป และรอผลประกันตัวในวันนี้ (4 กันยายน 2567)
ชวนเข้าใจกฎหมายพรากผู้เยาว์
“พรากผู้เยาว์” คืออะไร
พรากผู้เยาว์ คือ การพาหรือแยกเด็กหรือผู้เยาว์ ออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน โดยบิดามารดาไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา
การพรากผู้เยาว์ถือเป็น “ความผิดทางอาญา” ซึ่งมักจะเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยความผิดฐานพรากผู้เยาว์ที่ขึ้นสู่ชั้นศาลเป็นจำนวนมาก มักเป็นคดีพรากร่วมกับข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา, พาไปเพื่อการอนาจาร, หรือพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์
ความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี (เด็กจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม)
- พรากไปจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแล มีโทษจำคุก 3-15 ปี ปรับ 60,000 – 300,00 บาท
- เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร มีโทษจำคุก 2-10 ปี ปรับ 100,000 – 400,000 บาท
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุตั้งแต่ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี โดยผู้เยาว์ไม่ได้ให้ความยินยอม
- พรากไปจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแล มีโทษจำคุก 2-10 ปี ปรับ 40,000 – 200,000 บาท
- เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร มีโทษจำคุก 3-15 ปี ปรับ 60,000 – 300,000 บาท
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุตั้งแต่ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี โดยผู้เยาว์ได้ให้ความยินยอม
- เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร มีโทษจำคุก 2-10 ปี ปรับ 40,000 – 200,000 บาท
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews