ทองร่วงหนัก-บาทแข็งโป๊ก
มีเรื่องให้พูดถึงอีกครั้งสำหรับราคาทองในประเทศ เพราะเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ทองคำแท่ง ราคารับซื้อหลุด 4 หมื่นบาทต่อบาททองคำ จากการแข็งค่าของเงินบาทที่แตะ 33.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
และล่าสุด วันเสาร์ที่ 7 กันยายน ราคาทองแท่งซึ่งประกาศโดยสมาคมค้าทองคำ รับซื้อบาทละ 39,900 บาท ขายออกบาทละ 40,000 บาท ทองรูปพรรณ รับซื้อบาทละ 39,188.60 บาท ขายออกบาทละ 40,500 บาท
อย่างไรก็ตาม ช่วง 4 วันที่ผ่านมา ราคาทองในประเทศปิดตลาดร่วงลงต่อเนื่อง โดยวันพุธที่ 4 กันยายน ราคาปรับลง 300 บาท วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน ราคาปรับลง 100 บาท เช่นเดียวกับวันศุกร์ที่ 6 กันยายน ร่วงลงอีก 100 บาท และวันเสาร์ที่ 7 กันยายน ปรับลง 50 บาท
สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถาม “นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ” ประธานกรรมการกลุ่ม บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก ถึงปัจจัยที่ทำให้ราคาทองร่วงลงต่อเนื่องและหลุด 4 หมื่นบาทต่อบาททองคำ โดย “นพ.กฤชรัตน์” กล่าวว่า ภาพรวมราคาทองโลกวันพฤหัสบดีไม่มีอะไรผิดปกติ เพราะว่าราคายังเคลื่อนไหวอยู่ที่ 2,495 ถึง 2,500 เหรียญ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อราคาทองในประเทศ โดยค่าเงินบาทวันพุธที่ 4 กันยายน อยู่ที่ 34.22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่ต่อมาเพียงแค่วันเดียว ค่าเงินบาทหลุดไปที่ 33.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
“เงินบาทที่แข็งค่าทุกๆ 1 บาท ราคาทองจะลดลง 1,200 บาท ถ้า 50 สตางค์ราคาทองก็จะถูกกดลง บาทละ 600 บาทต่อบาททองคำ เห็นไหม แค่วันเดียวราคาค่าเงินบาทแข็งค่าลงมา 45 สตางค์ เกือบจะ 50 สตางค์แล้ว มันก็เลยกดราคาทองของภายในประเทศลงบาทละประมาณ 550-600 บาทนั่นเอง”
“นพ.กฤชรัตน์” กล่าวอีกว่า ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ระหว่างวันที่ 17-18 กันยายนนี้ ถ้าเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้คือ 0.25% ก็จะผลักดันให้ราคาทองในตลาดโลกทำนิวไฮอีกครั้ง
และเมื่อถามว่า ราคาทองในประเทศห้วงเวลาดังกล่าวจะมีแนวโน้มเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้ น่าสนใจ
“ในบ้านเรา อย่างที่เรียนแล้วพอเฟดลดดอกเบี้ย สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ จะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ตอนนี้ต้องบอกว่า ณ ขนาดนี้ดอลลาร์มันก็อ่อนอยู่แล้ว แต่ถ้าลดจริง ก็อย่างที่เรียนแล้วว่า มันคงจะอ่อนมากขึ้นและแน่นอนว่าถ้าอ่อนมากขึ้น เงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้น ซึ่งถามว่าจะแข็งค่าขนาดไหน ก็ตอบว่าเงินบาทเนี่ย น่าจะแข็งกว่านี้ไม่มาก เพราะว่าตอนนี้เงินบาทแข็ง เพราะเหตุเดียวก็คือเงินดอลลาร์ที่อ่อน แล้วตอนนี้อยู่ที่ 33 บาท 72 สตางค์ ฉะนั้นจะแข็งลงไปกว่านี้ ผมเชื่อว่าไม่น่าจะเกิน 50 สตางค์ ดังนั้นก็พูดง่ายๆ ว่าราคาทองของไทย น่าจะอยู่ที่บริเวณ 40,000 บาทต่อบาททองคำ บวกลบ คืออาจจะลงเตี้ยได้อีกนิดหน่อย ไม่มาก แล้วก็จะค่อยๆ ดีดขึ้นไป มันขึ้นอยู่กับค่าเงินบาท.”
ส่วนทิศทางค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 9-13 กันยายน หลังจากช่วงกลางถึงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา 2-6 กันยายน เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือนที่ 33.49 บาท/ดอลลาร์ฯ หรือ แข็งค่าสุดนับตั้งแต่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 33.30 – 34 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายละเอียดของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) สำหรับเดือนกันยายน และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ปี 2567 ของญี่ปุ่น และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนสิงหาคมของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนอีกด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews