เหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบ หรือ เหตุการณ์ตากใบ หน้า สภ. ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม พร้อมจับกุมผู้ชุมนุมราว 1,300 คน โดยมัดมือไพล่หลัง สั่งให้ผู้ชุมนุมนอนทับกันหลายชั้นบนรถบรรทุก ก่อนจะนำตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ที่ จ.ปัตตานี ห่างออกไปกว่าร้อยกิโลเมตร จนทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และทุพลภาพจากเหตุการณ์นี้เป็นจำนวนมาก
รายงานคณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ระบุข้อมูลว่า มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต จากการสลายการชุมนุม 7 คน ในจำนวนนี้มี 5 คน ที่ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลือถูกควบคุมตัว 1,370 คน ผู้ชายถูกถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลังทุกคนและมีจำนวนหนึ่งที่ถูกพันธนาการด้วยเชือก ลักษณะผูกร้อยเข้าด้วยกันเป็นชุด ชุดละประมาณ 10 คน
ทั้งหมดถูกคุมขึ้นรถบรรทุกของทหาร โดยจัดเรียงขึ้นกระบะรถบรรทุกในลักษณะนอนซ้อนทับกัน ซึ่งด้านข้างของกระบะรถบรรทุกเป็นโครงเหล็กพร้อมมีผ้าใบปกคลุมเป็นหลังคา แต่ผ้าใบมิได้คลี่ลงมา จากนั้นขบวนรถบรรทุกรวม 25 คัน ก็เคลื่อนตัวสู่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งห่างออกไปจากพื้นที่ชุมนุม 150 กิโลเมตร
เมื่อขบวนรถเคลื่อนที่ไปถึงปลายทาง ก็พบว่า ประชาชนที่ถูกพันธนาการนอนเกยกันอยู่ท้ายกระบะรถบรรทุกนั้น เสียชีวิตมากถึง 78 คน ส่วนผู้ที่รอดชีวิตจำนวนหนึ่ง กลายสภาพเป็นผู้เจ็บป่วยและพิการ อาทิ กล้ามเนื้อเปื่อยจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน
เมื่อมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน กฎหมายกำหนดให้ดำเนินการต้องประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 150 คือ เป็นการตายผิดธรรมชาติ ที่ต้องชันสูตรพลิกศพและต้องทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ให้ศาลไต่สวน
ผู้เสียชีวิตจากการถูกยิง 7 คน ไม่มีการไต่สวนผลชันสูตรพลิกศพ โดยพบว่า ปลายปี พ.ศ.2549 มีหนังสือของอัยการจังหวัดนราธิวาส ในขณะนั้น ลงความเห็นว่า ไม่พบผู้กระทำความผิด งดการสอบสวน
ส่วน 78 คน ศาลสงขลามีคำสั่งผลการไต่สวนสำนวนชันสูตรพลิกศพ ในปี พ.ศ.2552 ว่า “เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ”
แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 150 ผลการไต่สวนสำนวนการชันสูตรพลิกศพของศาล จะต้องถูกส่งไปให้ อัยการสูงสุด พิจารณาชี้ขาด ซึ่งปรากฏว่า สำนวนดังกล่าวไม่เคยถูกส่งถึงมืออัยการสูงสุดมาก่อนเลย
กระทั่ง 25 เม.ย.67 ปรากฏว่า คดีนี้ได้กลับสู่กระบวนการอย่างที่ควรจะเป็น โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือส่งสำนวน ของ สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี จำนวน 4 แฟ้ม พร้อมสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ จำนวน 4 แฟ้ม ไปยังอัยการสูงสุด พร้อมมีความเห็น สั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ
แต่วันนี้อัยการสูงสุดได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวพร้อมเปิดเผยว่า อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ในสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม โดยมี พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 เป็นจำเลยที่ 1 ส่วนอีก 7 คน เป็นพลขับ ในการนำตัวผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร
โดยมีคำวินิจฉัยว่า แม้จำเลยทั้ง 8 คน จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียง 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมกว่าพันคน อันเป็นการแออัดเกินกว่าวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้ง 8 คน จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ซึ่งทางอัยการสูงสุด ได้มีความเห็นส่งกลับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตำรวจติดตามตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 คน มารับทราบข้อหากล่าว ก่อนคดีหมดอายุความ วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ซึ่งหากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลได้ทันตามกรอบเวลา จะถือว่าคดีสิ้นสุดลง โดยขาดอายุความอายุความคดีอาญา 20 ปี
ทั้งนี้ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่า การที่คดีตากใบใช้เวลาพิจารณานานมาจากเหตุผลใด แต่ยอมรับว่า เป็นครั้งแรกมีการใช้เวลาสั่งฟ้องนาน และย้ำว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ละคร
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews