Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

แมนฯซิตี้ หากผิดกฎการเงินจริง โดนอะไรบ้าง..?

กลายเป็นข่าวใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของแฟนฟุตบอลมาหลายวันแล้วสำหรับกรณีที่ทีมเรือใบสีฟ้าแมนเชสเตอร์ซิตี้ สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่แห่งเกาะอังกฤษ แมนฯ ซิตี้ ถูกพรีเมียร์ลีกตั้งข้อหาว่ามีการละเมิดกฎการเงินมากกว่า 115 ข้อหาในช่วงเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ฤดูกาล 2009-10 ถึงฤดูกาล 2017-18 และได้ส่งเรื่องในการให้คณะกรรมการอิสระเข้าสอบสวนตั้งแต่เดือน ก.พ. 2023

 

 

 

 

 

FFP เป็นกฎที่ยูฟ่าตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมการใช้จ่ายเงินของสโมสรฟุตบอลให้เป็นไปอย่างมีวินัยป้องกันการใช้เงินมากเกินจนอาจทำให้สโมสรล้มละลายได้

 

 

กฎของ FFP คือทุกสโมสรต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงินทั้งหมดต่อยูฟ่า ซึ่งยูฟ่าจะตรวจสอบว่ารายรับ-รายจ่ายของแต่ละสโมสรมีความสมดุล พูดง่าย ๆ ก็คือ รายจ่ายต้องไม่มากกว่ารายรับ จึงจะเป็นภาวะทางการเงินที่ปกติ และเงินที่นำไปซื้อนักเตะต้องเป็นเงินจากผลประกอบการที่เป็นกำไรของสโมสรเท่านั้นตามหลักการก็คือ หากสโมสรไหนขาดทุนหรือไม่มีกำไรก็ไม่มีสิทธิ์ซื้อนักเตะ จะนำเงินส่วนตัวของเจ้าของทีมหรือกู้เงินมาซื้อนักเตะไม่ได้เด็ดขาด

 

 

กรณีของแมนฯซิตี้นั้นเกิดจากความหัวหมอของ ชีค มันซูร์ เจ้าของทีมชาวอาหรับที่มีความใกล้ชิดกับเอติฮัด แอร์เวย์ส เขาจึงให้เอติฮัดเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ทีมตัวเอง แล้วเขาก็ใส่เงินของตัวเองลงไปในสโมสรผ่านสปอนเซอร์รายใหญ่เจ้านี้ ทำให้แมนฯซิตี้อู้ฟู่ มีเงินซื้อนักเตะปีละเป็นร้อยล้านปอนด์

 

 

แต่ก็โป๊ะแตก เมื่อปี 2015 มีแฮกเกอร์คนหนึ่งแฮกข้อมูลลับในวงการฟุตบอล ได้ข้อมูลขนาดใหญ่มากซึ่งหนึ่งในนั้นมีข้อมูลของแมนเชสเตอร์ซิตี้อยู่ด้วย นั่นจึงเป็นที่มาของข้อมูลที่นำไปสู่การสืบสวนเส้นทางการเงินที่ไม่โปร่งใสของแมนฯซิตี้

 

 

สำหรับบทลงโทษทั้งห้าข้อที่ แมนฯ ซิตี้ อาจเผชิญตามที่สื่ออังกฤษระบุมีดังนี้

– ห้ามแข่งขัน
ตามกฏข้อที่ W51 ของ พรีเมียร์ลีก แมนฯ ซิตี้ อาจได้รับโทษในขั้นต้นด้วยการห้ามลงแข่งขัน แต่ถึงอย่างนั้นในทางปฏิบัติมันยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่แน่นอนว่ามันเป็นหนึ่งในทางเลือกที่เปิดกว้างให้กับผู้ถือกฏ

 

“คณะกรรมการอาจสั่งแบนทีมนั้นๆลงแข่งขันในเกมลีกหรือรายการอื่นๆได้ และเป็นไปในระยะเวลา ที่พวกเขาคิดว่าเหมาะสม” กฏกติกาข้อดังกล่าวบัญญัติเอาไว้

 

– หักแต้ม
น่าจะเป็นอ็อปชั่นที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดหาก แมนฯ ซิตี้ จะถูกลงโทษด้วยการหักแต้มเช่นเดียวกับยูเวนตุส ที่เมื่อไม่นานมานี้ได้รับโทษเป็นการหักแต้ม 15 แต้มหลังมีการสอบสวนพบว่าพวกเขาก่อความผิดในอดีตกับการซื้อขายนักเตะ

 

 

แม้ว่าจำนวนแต้มที่จะถูกหักอาจยังไม่มีใครรู้ได้ แต่ไม่ว่า เรือใบสีฟ้า จะถูกหักกี่แต้มก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันจะส่งผลกระทบต่ออันดับตารางใน พรีเมียร์ลีก ของพวกเขาเเน่นอน มองดูแล้วการหักแต้มน่าจะเป็นบทลงโทษที่มีน้ำหนักมากที่สุด

 

 

– ขับออกจากลีก
ข้อถือว่ารุนเเรงมาก หาก แมนฯ ซิตี้ จะโดนลงโทษสถานหนักด้วยการถูกขับออกจาก พรีเมียร์ลีก ซึ่งแม้พวกเขาจะมีอำนาจขับทีมให้พ้นจากลีกได้ แต่มันก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง

 

 

ถึงกระนั้น หากว่ามันเกิดขึ้นก็ไม่ชัดเจนอยู่ดีว่าแชมป์ พรีเมียร์ลีก จะระเห็จไปอยู่ที่ไหน พวกเขาอาจได้ร่วมฟาดแข้งในฟุตบอลลีกแม้ว่ามันจะก่อให้เกิดความยุ่งยากเนื่องจากจะกระทบต่อโครงสร้างของลีกที่มีจำนวนสโมสรมากมายอยู่แล้วหรือไม่เช่นนั้น พวกเขาก็อาจหล่นไปเล่นนอกลีกใน เนชั่นแนล ลีก เหมือนที่ คิวพีอาร์ เคยโดนแจ้งโทษเมื่อปี 2014หากไม่ยอมจ่ายค่าปรับ 40 ล้านปอนด์สมัยเล่นอยู่ใน แชมเปี้ยนชิพ และละเมิดกฏการใช้จ่าย

 

– ริบแชมป์
แม้ว่ากฏข้อ W51 จะไม่ได้รวมการริบแชมป์เอาไว้ด้วยสำหรับบทลงโทษ แต่มันยังเปิดช่องให้มีบทลงโทษที่หลากหลายตามมาจากการละเมิดกฏกติกา

 

 

ทั้งนี้เพราะกฏข้อ W.51.10 ระบุเอาไว้ว่าคณะกรรมการสามารถ “ลงโทษเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม”ซึ่งรวมทั้งการริบแชมป์จากสโมสรที่ได้แชมป์

 

เท่าที่ผ่านมาในรอบหนึ่งทศวรรษ แมนฯ ซิตี้ พิสูจน์ให้เห็นถึงการเป็นทีมชั้นยอดจากการคว้าแชมป์ลีกได้สามสมัยระหว่างปี 2009-2018 ซึ่งพวกเขาถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฏการใช้เงิน และแน่นอนว่ามีความเสี่ยงที่พวกเขาจะได้รับบทลงโทษนี้

 

 

– ปรับเงิน
กฏข้อ W.51.9 บอกเอาไว้ว่าคณะกรรมการสามารถ “สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหา จ่ายค่าปรับจำนวนหนึ่งได้ หากพวกเขาคิดว่าเหมาะสมซึ่งอาจรวมถึงค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายของสมาชิกคณะกรรมการด้วย”

 

บทลงโทษทุกข้อที่กล่าวมา หาก “เรือใบสีฟ้า” มีความผิดจริง มีสิทธิ์โดนทั้งลงโทษไม่ว่าจะเป็น การตัดคะแนนเป็นเวลาหลายฤดูกาลติดต่อกันตามการเสนอของผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งในวงการฟุตบอลเพื่อไม่ให้พวกเขาคว้าแชมป์ได้ลีกยากขึ้น ส่วนอีกบทลงโทษคือการปรับตกชั้น เเละหนักสุด มีสิทธิถูกขับออกจากการแข่งขันทุกรายการในอังกฤษ ทั้งนี้ การพิจารณาคดีดังกล่าวจะยังไม่เผยผลการตัดสินจนกระทั่งช่วงต้นปี 2025

 

 

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนจากแฟนบอลทั่วโลก ถึงการที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษได้ใช้เวลานานในคดีของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งต่างจาก เอฟเวอร์ตัน และฟอเรสต์ที่มีการตัดสิน และตัดแต้มอย่างรวดเร็ว

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube