ค่าแรง 400 ล่มแล้ว ล่มอีก แล้วยังไงต่อ
ความพยายามผลักดัน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 400 บาท มีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลเพื่อไทย ที่นำโดย “เศรษฐา ทวีสิน” เพื่อรักษาสัญญาตามที่หาเสียงไว้ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570
รัฐมนตรี “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” เจ้ากระทรวงแรงงานจากภูมิใจไทย ก็ขานรับเป็นอย่างดี การขยับค่าแรงเป็น 400 บาททั่วประเทศ หากทำสำเร็จจะเป็นการขึ้นค่าแรง ครั้งที่ 3 ของปีนี้ เพราะก่อนหน้านี้ รัฐมนตรี”พิพัฒน์” ได้ทำสำเร็จมาแล้ว 2 รอบ ใน 2 รูปแบบ เก็บแต้มผลงานไว้พอสมควร คือ การขึ้นทั่วประเทศ 2-16 บาท ดันค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดมาอยู่ที่ 370 บาท ที่จังหวัดภูเก็ต และต่ำสุด 330 บาท เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2567 และขยับอีกครั้งในพื้นที่ท่องเที่ยว 10 จังหวัดนำร่อง เป็น 400 บาท เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา รัฐมนตรี”พิพัฒน์” พยายามดันต่อให้เป็น 400 ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยประกาศมาตั้งแต่ นายกฯ ยังชื่อ “เศรษฐา”
แต่เมื่อเปลี่ยนเป็น “แพทองธาร ชินวัตร” และเมื่อใกล้วันบังคับใช้ค่าแรง 400 ในวันที่ 1ตุลาคมนี้ กลับมีปัญหา การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือที่เรียกกันว่า “ไตรภาคี” 2 ครั้งในสัปดาห์นี้ ล่มทั้งหมด ไม่สามารถมีข้อสรุปใดๆ ว่าจะขึ้นค่าแรงแล้ว มีแนวทางชดเชย เยียวยา ช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะคนตัวเล็กอย่างเอสเอ็มอี อย่างไรบ้าง เพื่อให้สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ในสภาพการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน เพราะหากรัฐบาลหักด้ามพร้าด้วยเข่า ใช้บังคับอัตราค่าจ้างใหม่ 400 บาททั่วประเทศ และไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน ย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
รัฐมนตรีพิพัฒน์ ยังยืนยันขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ จะเริ่ม 1 ต.ค.67 พร้อมหารือกระทรวงพาณิชย์ ผุดโครงการธงฟ้า เพื่อไม่ให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นหลังปรับค่าจ้าง เป็นการช่วยเหลือแรงงานในเบื้องต้น และเตรียมเยียวยาผู้ประกอบการ โดยการลดนำส่งประกันสังคมภาคนายจ้าง 1% ตั้งแต่ ต.ค.ไป จนถึง ก.ย.68 ยาวนาน 1 ปี นี่เป็นคำยืนยันของเจ้ากระทรวงแรงงานล่าสุดว่าทุกอย่างยังจะเดินหน้า หลังการประชุม ไตรภาคี เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ล่ม เพราะฝ่ายนายจ้างไม่มาประชุมเลย แต่หลังการประชุมครั้งที่ 2 จบลงด้วยเหตุผลองค์ประชุมไม่ครบ
เนื่องจากตัวแทนฝ่ายราชการ และตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ไม่เข้าประชุม “ไพโรจน์ โชติกเสถียร” ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานที่ประชุม ชี้แจงสั้นๆ ถึงขั้นตอนต่อไปว่า เมื่อองค์ประชุมไม่ครบจะต้องนัดใหม่ ซึ่งต้องนับจากวันที่ประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ก.ย. จะต้องจัดภายใน 15 วัน โดยจะประชุมไตรภาคีอีกครั้ง ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ถ้าหากไม่ครบองค์ประชุมอีก ก็จะมีการขยับไปอีก
แต่คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุป และสามารถนำเข้าคณะรัฐมนตรี ประมาณวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะเห็นได้ว่า คำชี้แจงของปลัดแรงงาน สอดรับกับรัฐมนตรี “พิพัฒน์” เป็นอย่างมาก ไม่ว่า จะเลื่อน หรือขยับไตรภาคีอีกหรือไม่ แต่ทุกอย่างต้องจบ และจะต้องมีข้อสรุป เข้า ครม.ภายในวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งเป็นวันที่บังคับใช้ ค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ดังนั้นผู้ใช้แรงงาน เตรียมเฮได้ ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ เป็นจริงแน่นอน 1 ตุลาคมนี้ ส่วนผลกระทบ จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะนี่จะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือของนายกฯแพทองธาร และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่าจะแก้ปัญหาปากท้อง ผลักดันเศรษฐกิจของชาติให้โตขึ้นได้อย่างไร นอกเหนือจากการแจกเงินหมื่น เพื่อจะได้สอดรับกับนโยบายค่าแรง ที่ขึ้นนำไปก่อนแล้วนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews