Home
|
ข่าว

พายุใหญ่รอถล่มศก.

 

 

 

 

ยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดสำหรับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2567 ไปจนถึงปีหน้า 2568

 

 

 

 

แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงิน 1 หมื่นบาทของรัฐบาลเฟส 1 ให้กับกลุ่มเปราะบางภายใต้งบประมาณ 1.45 แสนล้านบาท นั่นเพราะวันนี้มีปัจจัยมากมายที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจโลกโยงเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นสงครามในตะวันออกกลางรวมทั้งค่าเงินบาทที่ก่อนหน้านี้แข็งค่าขึ้นมาก

 

และยังมีเรื่องอัตราดอกเบี้ย หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และล่าสุดกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งล้วนเป็นโจทย์ท้าทายอย่างมากต่อรัฐบาลและนายกฯแพทองธาร

 

โดยอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” สะท้อนภาพเศรษฐกิจไว้อย่างน่าสนใจ โดยบอกกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า เวลานี้กำลังมีพายุเศรษฐกิจลูกใหญ่ซึ่งไม่เกินไตรมาส 1 ปีหน้าจะชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจในหลายๆประเทศเวลานี้ ก็ชะลอตัวพร้อมกัน ดังนั้นในการวางแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ จะต้องมีความยืดหยุ่นในการทำงานให้มากขึ้นกว่าเดิม

 

“ผมคิดว่าเวลานี้ มันกำลังมีพายุใหญ่กำลังก่อตัวในตลาดต่างประเทศ และผมว่ามันจะเกิดปัญหาใหญ่ เรียกว่าพายุสมบูรณ์ชัดเจน ก็ไม่เกินไตรมาส 1 ของปีหน้า มันน่าจะชัดขึ้นมา แล้วก็เศรษฐกิจเวลานี้ก็ชะลอตัวในหลายประเทศพร้อมกันเลย

 

เพราะฉะนั้นในแง่ของการวางแผนสำหรับนักธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ขนาดเล็ก มันต้องเผื่อใจไว้ว่าทำอย่างไรเราจะทำให้มันมีสามารถเดินหน้าถอยหลังมีความยืดหยุ่นในการทำงานของเรา ไม่ใช่ว่าลุยแล้วก็หวังผลสำเร็จอย่างเดียว ต้องเผื่อไว้ว่า ถ้าไม่สำเร็จเราจะถอยยังไง อันนี้ต้องมี สถานการณ์ปีนี้ ปีหน้าผมว่ามีความไม่แน่นอนสูงมากเลย”

 

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อดูมาตรการของรัฐบาลในการดูแลเศรษฐกิจ ล่าสุด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง “นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล” บอกว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องปลายปีนี้ ยืนยันว่าไม่ใช่รูปแบบโครงการ “คนละครึ่ง” โดยมองเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีช่วงครึ่งปีหลัง 2567 คาด GDP ปีนี้โต 2.6 – 2.7%

 

ซึ่งยังไม่รวมผลมาตรการแจกเงินหมื่นอีก 0.3% ซึ่งหากจะเกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีหลัง ตัวเลข GDP รายไตรมาสต้องแตะระดับ 3.4-3.5% โดยถือว่าสูงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ขณะที่ปี 2568 คลังคงมุมมอง GDP โตระดับ 3%

 

ในมุมมองนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ มองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่จะเป็นรูปแบบของมาตรการภาษีและการกระตุ้นใช้จ่ายนั้น รูปแบบคงคล้ายเดิมกับมาตรการ Easy E-receipt ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

 

ซึ่งเป็นมาตรการจูงใจให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยเพื่อนําวงเงินดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา มองนโยบายดังกล่าวจะเกื้อหนุนกับประชาชนในกลุ่มที่มีฐานะปานกลางขึ้นไปที่อยู่ในระดับภาษีและจะเป็นบวกต่อกลุ่มค้าปลีกของไทยที่เตรียมกําลังจะเข้าสู่ช่วง High season ในช่วงปลายปีเช่นกัน

 

ขณะที่นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป วิเคราะห์ผลหารือระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ออกมาว่าจะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากผู้ว่าการ ธปท.มองว่าปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นปัญหาที่สำคัญกว่าและช่วยให้ภาคเศรษฐกิจฟื้นจากหนี้ได้มากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงไม่กี่ basis points (bps)

 

ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น มองจะไม่กระทบปริมาณการส่งออก และจะเป็นแรงหนุนให้การส่งออกในไตรมาส 4 รวมถึงการท่องเที่ยว โดยกรอบอัตราเงินเฟ้อ จะมีการหารืออีกครั้ง ภายในเดือนนี้

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube