Home
|
ไลฟ์สไตล์

ตำนานของนางสงกรานต์

Featured Image

          พอถึงเทศกาลวันสงกรานต์ทีไร นอกจากการเล่นน้ำ ประแป้ง รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่เรานึกถึงแล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมที่มาคู่กับเทศกาลวันสงกรานต์อยู่เสมอคือ การประกวดนางสงกรานต์ประจำปีนั่นเอง หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ตำนานของนางสงกรานต์ นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง วันนี้ทีม INN หาคำตอบมาให้แล้ว ไปอ่านพร้อมๆกันเลย

          “นางสงกรานต์” เป็นเพียงคติความเชื่อที่ปรากฏอยู่ใน “ตำนานสงกรานต์” ซึ่งเป็นอุบายของคนโบราณให้สามารถจดจำวันปีใหม่ไทยหรือวันมหาสงกรานต์ได้ง่าย โดยสมมติให้นางสงกรานต์ทั้งเจ็ดคนเทียบกับวันแต่ละวันในหนึ่งสัปดาห์นั่นเอง

          ตำนานของนางสงกรานต์

          หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่านางสงกรานต์เป็นลูกสาวของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์จะเป็นนางฟ้าอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์มีทั้งหมด 6 ชั้น นางสงกรานต์จะอยู่ชั้น 1 ที่เรียกว่าชั้นจาตุมหาราช) นางสงกรานต์มีหน้าที่คอยรับศีรษะของท้าวกบิลพรหมเพื่อแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี โดยมีเกณฑ์กำหนดว่าต้องแห่ในวันที่ 13 เมษายน เมื่อวันนี้ตรงกับวันไหนก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ ต้องบอกก่อนว่านางสงกรานต์นั้นมีทั้งหมดด้วยกัน 7 องค์ แต่ละองค์ จะมี ชื่อ อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะ ดังนี้

  1. นางสงกรานต์ทุงษเทวี 

          ทุงษเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ อุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ 

  1. นางสงกรานต์โคราดเทวี 

          โคราดเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับภักษาหาร คือ เตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ) 

  1. นางสงกรานต์รากษสเทวี 

          รากษสเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ โลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู) 

  1. นางสงกรานต์มัณฑาเทวี 

          มัณฑาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ นมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา) 

  1. นางสงกรานต์กิริณีเทวี 

          กิริณีเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา(ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ ถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง) 

  1. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี

          กิมิทาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ กล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย) 

  1. นางสงกรานต์มโหทรเทวี 

          มโหทรเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)

          และสำหรับนางสงกรานต์ในปี 2564 นี้มีนามว่า นางรากษสเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร มีคำทำนายของปีนี้ว่า 

  • จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิงภัยและโจรผู้ร้าย ผู้คนจะเจ็บไข้
  • วันพุธเป็น “วันเนา” (ตรงกับวันที่ 14 เมษายน) ข้าวจะแพง คนทั้งหลายจะได้รับความทุกข์ร้อน แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่
  • วันพฤหัสบดีเป็น “วันเถลิงศก” (ตรงกับวันที่ 15 เมษายน) พ่อค้าพานิชย์ทั้งหลาย อันไปค้าขายในประเทศต่างๆ จะประกอบไปด้วยพัสดุเงินทอง และมีความสุขเป็นอันมาก
  • นางสงกรานต์ ไสยาสน์หลับเนตร (นอนหลับตา) พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี
  • เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ เสาร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่า : ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า 
  • เกณฑ์ธาราธิคุณ ปีนี้ตกราศีกรกฏ ชื่ออาโป (ธาตุน้ำ) : ทำนายว่า น้ำมาก น้ำท่วม 
  • เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีนี้นาคราชให้น้ำ 6 ตัว : ทำนายว่า ฝนดีตลอดปี 
  • เกณฑ์ธัญญาหาร ชื่อปาปะ : ข้าวกล้าในไร่นา จะได้ 1 ส่วน เสีย 10 ส่วน คนทั้งหลายจะตกทุกข์ได้ยากลำบากแค้น เพราะกันดารอาหารบ้าง จะฉิบหายเป็นอันมากแลฯ

          และนี่ก็คือเรื่องราวของนางสงกรานต์ทั้ง 7 องค์ที่ทางทีม INN ได้นำมาฝากกัน 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

ขอขอบคุณข้อมูลและเนื้อหาจาก

กระทรวงวัฒนธรรม

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube