กลายเป็น “จุดตัด”เชิงเปรียบเทียบในจังหวะนี้กับ 2 ปมประเด็น ที่ “รัฐบาลอิ๊งค์”ถูกตั้งคำถามการจัดการ ในเชิง การวางน้ำหนักความสำคัญ ว่าจะยึดในการให้ความเป็นธรรมกับ“ประชาชน”ก่อนหรือ จะยึดในการให้ความเป็นธรรมกับ ผู้คนฝ่ายตน ไม่ว่าจะเป็น 1.ปมข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พรก.) เพื่อหยุดอายุความของคดี 85 ศพตากใบ ที่กำลังจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค. 67 จน “พี่อ้วน-ภูมิธรรม”ต้องออกมาแจงว่า กำลังให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาอยู่
ขณะที่ “นายกอิ๊งค์-แพทองธาร”ออกแนว “ชิ่งๆ”ปฏิเสธแสดงความเห็นโดยพูดสั้นๆ กับนักข่าวว่า”ขอไปก่อนนะคะ“ หรือจะเป็น 2.ปมรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่มีการลงมติในประชุมสภาผู้แทนราษฎรบ่ายวันนี้(24ต.ค.) ที่ปรากฎทั้งกระแสเห็นด้วยและคัดค้าน
โดยในประเด็น “คดีตากใบ”ที่จะหมดอายุความพรุ่งนี้ นอกจากกระแสเรียกร้องให้ รัฐบาลเพื่อไทยของ “นายกอิ๊งค์”ในฐานะ “นายกลูก”ได้แก้ตัวเป็นผู้แก้ไขในสิ่งที่ “นายกพ่อ”ทำไว้สมัย“ดับไฟใต้”ปี2547 โดยการ ออกพรก.หยุดเวลา การหมดอายุความคดี เพื่อนำไปสู่การนำตัวบรรดา “ผู้เกี่ยวข้อง”ไล่ตั้งแต่ อดีตแม่ทัพภาค4 “พล.อ.พิศาล”ลงมา ที่ปัจจุบันเพิ่งลาออกจากส.ส.และสมาชิกเพื่อไทยที่หลบหนี ด้านหนึ่งยังมีการจี้ให้ “นายกฯลูก”มีการออกมาขอโทษประชาชนอย่างที่ “คุณหญิงสุดารัตน์”หัวหน้าไทยสร้างไทย ตั้งโต๊ะแถลงจี้ให้นายกฯแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษประชาชน และแสดงความจริงใจในการถอดชนวนความขัดแย้งภาคใต้ด้วยการ ติดตามตัวจำเลยที่หลบหนีคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ในชณะที่ “เทพไท เสนพงศ์”อดีตส.ส.นครศรีธรรมราชที่โพส FB นอกจากจะไม่เห็นด้วยต่อการออกพรก.อายุความตากใบ เพราะเป็นแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แล้ว ยัง ตั้งคำถามต่อวุฒิภาวะและวิสัยทัศน์ของ “นายกฯอิ๊งค์” ต่อการแก้ปัญหา3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ชัดเจนเมื่อนักข่าวถาม ถึง 85 ศพตากใบ ที่กำลังจะหมดอายุความ มีผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลหรือไม่ กลับไม่ได้คำตอบใดๆ จาก “นายกฯอิ๊งค์”ที่ปิดปากเงียบ เดินหนีขึ้นรถไป
ส่วนอีกปม กรณี ร่างพรบ.นิรโทษกรรรม ที่ถูกเชื่อมโยงปม ม. 112 ก็ปรากฏร่องรอยการคัดค้านไม่แต่แอ๊คชั่นชิงนำ พรรคการเมืองแนวอนุรักษ์นิยม อย่าง “พรรคพลังประชารัฐ”ที่ “ไพบูลย์”ออกมาบอกว่า “ลุงป้อม”สั่งให้ส.ส.โหวตไม่เห็นชอบต่อรายงานของ กมธ.นิรโทษกรรมที่ปรากฏว่า กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมาธิการเห็นด้วยการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเห็นได้ว่าการกำหนดให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามม.112จะเป็นการทำให้การกระทำความผิดตาม ม. 112 ไม่เป็นการกระทำผิดอีกต่อไป ดังนั้น การออกกฎหมายนิรโทษกรรมม. 112 จึงมีผลกระทบรุนแรงต่อการปกป้องคุ้มครองสถาบัน
ขณะที่ ‘อ.ชูศักดิ์ ศิรินิล‘รัฐมนตรีจากเพื่อไทยบอกว่า ’พรรคเพื่อไทย’ เห็นชอบรายงานนี้และถือเป็นเอกสิทธิ์ของพรรคร่วมจะโหวตอย่างไร เพราะรายงานนี้ไม่ใช่การพิจารณากฎหมายไม่ใช่การพิจารณาว่าจะมีหรือไม่มีมาตรา 112 รายงานนี้เป็นเพียงผลการศึกษาว่าหากต้องทำกฎหมายนิรโทษกรรมต้องทำอย่างไร ซึ่งตนเองพยายามอธิบายมาหลายครั้ง และ “นายนพดล ปัทมะ” สส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ก็พูดชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 และจากการฟังในที่ประชุมทั้งหลายก็มีแนวโน้มไปในทิศทางนั้น ฉะนั้น จึงได้ย้ำว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112เพียงแค่ตอนนี้ไม่ใช่การพิจารณากฎหมาย เพียงแค่เป็นวาระการศึกษากฎหมาย
เช่นเดียวกับ “ปกรณ์วุฒิ”จากพรรคประชาชน ที่บอกว่าพรรคก็มีมติเห็นชอบดับรายงานนิรโทษกรรมโดยยังเชื่อว่า จะจับมือกับ “เพื่อไทย”ผ่านร่างการศึกษา ยืนยันว่ารายงานนี้ไม่ใช่การตรากฎหมายแต่เป็นเพียงการศึกษาเพื่อการตรากฎหมายและไม่ใช่การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
อย่างไรก็ตามญัตตินี้เป็นญัตติที่พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอขอให้สภาเป็นผู้ตั้งขึ้นมา เพื่อหาทางออกร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ หากในที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบก็น่าเสียดาย เพราะการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้เพื่อหาทางออกที่ทุกคนรับได้ ทั้งนี้หากร่างดังกล่าวได้รับการเห็นชอบ ขณะนี้ก็มีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอจ่อไว้อยู่แล้ว.
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews