“สรรเพชญ” ชี้รัฐต้องเร่งแก้หนี้ครัวเรือน แนะรีบปรับโครงสร้างนโยบายแก้หนี้อย่างเป็นรูปธรรม เตือนไม่ควรแทรกแซงการตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
นายสรรเพชญ บุญญามณี สส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย โดยชี้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ระดับประมาณ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งสูงที่สุดในรอบหลายปี ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก
โดยรายละเอียดเชิงลึกยังแสดงให้เห็นว่า หนี้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเพื่อการบริโภค และสินเชื่อบัตรเครดิต โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยที่ต้องเผชิญกับภาระดอกเบี้ยสูง ซึ่งทำให้สถานการณ์หนี้ของประชาชนฐานรากยากต่อการผ่อนชำระและอาจกลายเป็นหนี้เสียได้ในอนาคต
นายสรรเพชญ แนะให้รัฐบาลเข้ามาเป็นแกนนำในการจัดการปัญหานี้ ไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือคลินิกแก้หนี้เพียงลำพัง โดยเสนอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายเชิงรุก เช่น การควบคุมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบริโภคในตลาด ควบคู่กับการเพิ่มการเข้าถึงโครงการคลินิกแก้หนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการปรับโครงสร้างหนี้
ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งปรับโครงสร้างนโยบายแก้หนี้ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ควรเน้นการเจรจาปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน ควบคู่ไปกับการสร้างโครงสร้างระบบที่ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้เสีย ให้สามารถฟื้นฟูและกลับมามีสถานะการเงินที่เข้มแข็งได้
ซึ่งจะทำให้การลดภาระหนี้ในระดับครัวเรือนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงการสร้างระบบการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน การสร้างสภาวะแวดล้อมให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องตามสถานการณ์ดอกเบี้ย
นอกจากนี้ ยังได้เตือนถึงความเสี่ยงในการแทรกแซงธปท. โดยการแต่งตั้งบุคคลที่ใกล้ชิดเป็นประธานบอร์ด และได้ขอให้รัฐบาลเคารพโครงสร้างการบริหารงานของ ธปท. และสนับสนุนให้มีการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในด้านการเงินการคลังมาดำรงตำแหน่ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตัดสินใจของ ธปท. จะเกิดขึ้นจากการพิจารณาที่อิสระและเป็นมืออาชีพ
พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น หากความเป็นอิสระของ ธปท. ถูกบั่นทอนโดยอิทธิพลทางการเมืองที่อาจทำให้การตัดสินใจในเชิงนโยบายเบี่ยงเบนไปตามความต้องการของรัฐบาล ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews