Home
|
ข่าว

นายกฯ-พรรคร่วมเดินหน้าMOU44ถามกลับยกเลิกแล้วได้อะไร

Featured Image
นายกฯ นำพรรคร่วมเดินหน้า MOU 44 ถามกลับยกเลิกแล้วได้อะไร ยืนยันเกาะกูดเป็นของเรา ลั่น เป็นคนไทย 100% จะไม่ให้เสียแผ่นดินแม้ตารางนิ้วเดียว ขออย่าเอาการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน

 

 

 

ภายหลังประชุมพรรคร่วมรัฐบาลนานกว่า 2 ชั่วโมง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำหัวหน้าและเลขาพรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันแถลงข่าว ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึง MOU 2544 พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาโดยยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย เป็นมาตั้งนานแล้ว และกัมพูชา ก็รับรู้เช่นกัน ทั้ง 2 ประเทศรับรู้อยู่แล้วว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส และรัฐบาลนี้ก็จะไม่ยอมเสียพื้นที่ ของประเทศไทย แม้แต่ตารางนิ้วเดียว

 

 

ไปให้ใครก็ตาม และเรื่องเกาะกูด กับกัมพูชา เราไม่เคยมีปัญหา และไม่เคยมีข้อสงสัยด้วย ดังนั้น คงเป็นการเกิดความเข้าใจผิดของคนในประเทศไทยเอง ขอให้มั่นใจได้เลยว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทยส่วน MOU 44 ยังคงอยู่ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะหากจะยกเลิก ต้องเป็นการตกลงของทั้ง 2 ประเทศ เนื่องจากหากยกเลิกเองจะถูกกัมพูชาฟ้องร้อง เนื่องจากเป็นการตกลงกันระหว่างประเทศ

 

 

ส่วนรัศมีรอบเกาะกูดในน้ำทะเลมีการแบ่งหรือไม่ ว่า ส่วนใดเป็นของใคร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ใน MOU เขียนไว้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเกาะกูด ไปดูเส้นที่เขาตีได้เลย เขาเว้นเกาะกูดไว้ให้เรา และที่คุยกันไม่ได้พูดคุยกันพื้นที่ดินเราคุยกันในพื้นที่ทะเลว่าสัดส่วนเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้ใน MOU คือ ขีดเส้นไม่เหมือนกัน จึงมีการตกลงกันว่าจะมีการเจรจากันระหว่าง 2 ประเทศ

 

 

นี่คือความหมายใน MOU 44 เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เราต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาคุยกัน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการของทางฝั่งกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของไทย เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ก็ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการ ซึ่งเมื่อสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการตั้งคณะกรรมการ พอมาถึงสมัยตน ก็อยู่ระหว่างการจัดตั้ง
คณะกรรมการชุดนี้อยู่ เพื่อมาศึกษาและพูดคุยกัน คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ไม่ถึงเดือน

 

 

ส่วนเมื่อไม่มีการยกเลิก MOU ทำให้ถูกมองว่าไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา นายกรัฐมนตรี ยิ้มและส่ายศีรษะ ก่อนจะกล่าวว่านั่นคือความเข้าใจผิด เราไม่ได้ยอมรับเส้นอะไรทั้งสิ้น MOU นี้ทั้ง 2 ประเทศคิดไม่เหมือนกัน แต่เราต้องแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชา? ขีดเส้นมาก่อน พอมาปี 2516 ประเทศไทยก็ขีดด้วย แต่ข้อตกลงไม่เหมือนกัน จึงต้องมีการตั้ง MOUขึ้นมาเปิดการเจรจา

 

 

“MOU นี้ไม่เกี่ยวกับเกาะกูดเลย เกาะกูดไม่เคยอยู่ในการเจรจานี้ ขอให้คนไทยทุกคนสบายใจได้เลย ว่าเราไม่เสียเกาะกูดไป และกัมพูชา ก็ไม่ได้สนใจเกาะกูดด้วย จึงขออย่ากังวลเรื่องนี้เกาะกูดก็เป็นของประเทศไทยเหมือนเดิม”

 

 

ส่วนเคยมีการยกเลิก MOU ฉบับนี้เมื่อสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มี MOU 44 ยกเลิกไม่ได้ ถ้าไม่เกิดการตกลงระหว่าง 2 ประเทศอีกทั้งจะยกเลิกต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภา เมื่อปี 2552 ก็ไม่มีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมรัฐสภาด้วย หรือแม้แต่สมัยพล.อ.ประยุทธ์? 2557 ก็ไม่มีการยกเลิก

 

 

ส่วนมีกระแสที่ต้องการให้ยกเลิกนายกรัฐมนตรีจะคุยอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดกระแสบานปลาย น.ส.แพทองธาร ถามกลับว่ายกเลิกแล้วได้อะไร ต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้แต่เมื่อเห็นไม่เหมือนกันจะต้องมี MOU เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ เรื่องนี้สำคัญมาก การรักษาไว้ซึ่งความสงบระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น MOU นี้ เป็นการเปิดให้ทั้งสองประเทศได้คุยกันและเมื่อถามว่ายกเลิกแล้วได้อะไรบ้าง ถ้าเรายกเลิกฝ่ายเดียว จะโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาแน่นอน

 

 

 

ส่วนหากนายกฯเดินหน้าลุยต่ออาจจะดูเหมือนไม่ฟังเสียงคัดค้าน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่จริงเลยค่ะ ที่มาในวันนี้ทุกคนตกลงกันอย่างง่ายดาย ตาม Concept เลยว่า เรื่องนี้คือข้อตกลงเจรจาระหว่างประเทศไม่เกี่ยวกับเสียงคัดค้าน วันนี้ที่ออกมาพูดให้พี่น้องประชาชนฟัง เพื่อจะอธิบายให้เข้าใจว่า MOU 1.ไม่เกี่ยวกับเกาะกูด เกาะกูดเป็นของเรา 2. MOU เป็นเรื่องระหว่าง 2 ประเทศ หากจะมีการยกเลิกต้องเป็น การตกลงกันระหว่าง 2 ประเทศ

 

 

 

3. เรายังไม่ได้เสียเปรียบ ในเรื่องของการตกลง เรื่องนี้เกิดจากการขีดเส้นที่ไม่ตรงกันจึงมีการตั้ง MOU ขึ้นมาเพื่อให้ 2 ประเทศเจรจาตกลงร่วมกันในผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นอย่าเอาเรื่องของการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามหลัก

 

 

ส่วนพรรคร่วมทั้งหมดเห็นด้วยกับ MOU นี้ใช่หรือไม่ แกนนำทุกคนที่ร่วมแถลงข่างพยักหน้า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะระบุว่า “ใช่ค่ะ” เราจะเดินหน้าต่อ และที่ต้องทำอยู่ตอนนี้คือกัมพูชากำลังรอเราตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาและเป็นตัวแทนไปพูดคุย โดย คณะกรรมการจะประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน กระทรวงกลาโหม ที่จะช่วยกันดู

 

 

ส่วนกังวลประเด็นนี้จะบานปลายหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ถ้าทุกคนเข้าใจแล้ว ไม่น่าจะบานปลาย เพราะมันก็คือข้อเท็จจริง ว่ามันต้องเป็นแบบนั้น ไม่มีการคุยอะไรข้างหลัง เพราะมันคือกรอบและเป็นกฎหมายอยู่แล้วเมื่อถามว่าจะเป็นเผือกร้อนในมือนายกรัฐมนตรีหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ไม่เลยค่ะเมื่อถามถึงข้อกังวลแหล่งพลังงานใต้ทะเล นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องคุยกันระหว่างประเทศก่อน เรื่องนั้นเราต้องศึกษารายละเอียดด้วย ว่าจะแบ่งอย่างไรได้บ้าง ให้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศและยุติธรรมมากที่สุด จึงมีการตั้งคณะกรรมการ ผู้รู้ไปศึกษาเพื่อไปพูดคุยกับกัมพูชาด้วย เพื่อที่จะได้มาชี้แจงต่อประชาชนอย่างชัดเจน

 

 

ส่วนจะใช้ความสัมพันธ์อันดีของนายทักษิณ ชินวัตร ในการพูดคุยกับกัมพูชาหรือไม่ เพราะอาจจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศได้ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ความสัมพันธ์อันดี สามารถสร้าง Connection ดีๆได้แต่เรื่องผลประโยชน์ของประเทศเขาและประเทศเรา ต้องใช้คณะกรรมการ เพื่อที่จะได้ไม่มีอคติ ในพูดคุยกัน โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการรู้ จริงรู้ครบและเกิดความยุติธรรมด้วย

 

 

ส่วนรัฐบาลรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย 100% ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ดิฉันเป็นคนไทย 100% อย่างที่บอก ประเทศไทยต้องมาก่อน คนไทยต้องมาก่อน รัฐบาลนี้ยืนยันรัฐบาลนี้จะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้คนไทยมีความสุขที่สุดนั่นคือสิ่งที่ต้องการ

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube