ปชป. จัดเสวนา “ทางรอดกรุงเทพ : วิกฤตน้ำท่วม”
ปชป. จัดเสวนา “ทางรอดกรุงเทพ : วิกฤตน้ำท่วม” ระดมความคิดแก้ปัญา ส่งสัญญาณถึงประชาชน-นักการเมือง อย่านิ่งนอนใจ หวั่น กทม. จมน้ำในอนาคต
พรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ทางรอดกรุงเทพ : วิกฤตน้ำท่วม” ครั้งที่ 2 โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการแก้ไข และการปรับปรุงระบบการจัดการน้ำในกรุงเทพมหานคร เพื่อทางออกที่ยั่งยืน โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค มอบหมายให้นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค เป็นประธานเปิดงาน
โดยเน้นย้ำความสำคัญว่า ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรุนแรง ไม่ใช่แค่ภาวะโลกร้อน แต่เป็น “โลกเดือด” ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าว จากอุณภูมิน้ำทะเล ทั้งสองฝั่งของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ จนเกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงในภาคเหนือ และมวลน้ำมหาศาลได้ไหลลงมาที่ภาคกลางจนถึงกรุงเทพฯ
โดยมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องน้ำท่วมถึง 3 ด้าน คือ ปริมาณน้ำเหนือ ปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งทำให้กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงที่จะจมน้ำมากขึ้นทุกปี หากไม่มีการวางแผนป้องกันที่ดีพอ ดังนั้น การจัดเสวนาวันนี้จึงเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
โดยนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรค ภาค กทม. ย้ำเตือนว่า ในอนาคต กทม. จะจมทะเล พร้อมนำแนวคิดในต่างประเทศมาเป็นแนวทางปรับใช้ เพื่อตอกย้ำนโยบาย “Delta Work Thailand กรุงเทพต้องไม่จมน้ำ“ โดยที่เวนิสได้มีการสร้าง Mose System เป็นประตูจมน้ำลึกลงไป 30 เมตร ซึ่งเป็นระบบใช้ป้องกันน้ำหนุนไม่ให้ท่วม ดังนั้น เชื่อว่า ไทยก็ทำได้ และพรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบายที่แก้ปัญหาน้ำท่วม กทม. อย่างยั่งยืน
นายสุชัชวีร์ ยืนยันว่า การจัดงานวันนี้ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่เป็นการทำเพื่อส่วนรวมและส่งสัญญาณแรงแรงไปถึงนักการเมืองและประชาชน ให้ตระหนักถึงเรื่องนี้ และเริ่มทำอย่างจริงจัง เพราะนิ่งนอนใจไม่ได้ หากไม่มีเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนนักการเมืองคงไม่ทำ
ด้านนายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อานวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า การประเมินสถานการณ์ในปี 2100 น้ำจะท่วมจำนวนมหาศาล ถ้าหากไม่มีการเริ่มป้องกัน แต่แนวทางการป้องกันมีหลายรูปแบบ ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาวางแผนไม่ต่ำกว่า 20 ปี
ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีการคาดการณ์จากข้อมูลต่างๆ ว่า จะน้ำท่วมใหญ่ในปี 2573 ซึ่งจะมีระดับความรุนแรงมากกว่าปี 2554 นั่นหมายความว่าจะมีปริมาณฝนเยอะมาก ขณะช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ก็ยังไม่มีมาตรการใดจากรัฐบาลในการแก้ปัญหาที่จริงจัง
ขณะนายชวลิต จันทรรัตน์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วมในปี 2567 หลายจังหวัด ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่ปี 2564 ประเทศไทยก็ประสบกับปัญหาภาวะโลกร้อนหรือภาวะโลกเดือด ส่งผลให้เกิดผลกระทบปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นและความเข้มข้นของฝนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ดังนั้น สิ่งที่กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องทำ ก็คือ กักน้ำในแก้มลิงบางส่วน และระบายน้ำลงทะเลให้ทันอีกทั้งจะต้องมีการแจ้งเตือนภัยเพราะเป็นความสำคัญของการสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉินควรนำมาปรับใช้ในกรุงเทพมหานครด้วย
ทั้งนี้ การจะนำไปสู่แก้ปัญหาต้องสร้างแนวร่วมมากกว่านำการเมืองมาคุยก่อน เพื่อให้การการผลักดันที่ก้าวไปได้เร็ว ซึ่งการเริ่มต้นวันนี้คงไม่สาย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews