“ศุภโชติ” กมธ.พลังงาน เรียกหน่วยงานแจง MOU 44 ได้ข้อสรุป 2 ส่วน เกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิ์-ทรัพยากรทางทะเล ชี้ คกก. JTC มีคนการเมืองแทรกแซง แนะยึดประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง
นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานกรรมมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลพื้นที่อ้างสิทธิ์ ไทย-กัมพูชา บริเวณเกาะกูด จังหวัดตราด ว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ยึด MOU 44 เป็นกรอบหลักในการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา โดยข้อสรุปในวันนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเรื่องของพื้นที่อ้างสิทธิ์ ในพื้นที่ส่วนบนจะต้องมีการเจรจากันไปพร้อมๆ กับทรัพยากรธรรมชาติในส่วนล่าง
โดยตามกรอบ MOU 44 เป็นการรับรู้ของทั้งสองฝ่ายว่า เส้นแบ่งเส้นที่ทั้งสองฝ่ายใช้อ้างสิทธิ์ลากอย่างไร ทางรัฐบาลไทยค่อนข้างมั่นใจในข้อมูลที่จะเข้าสู่ชั้นเจรจา ซึ่งเป็นไปตามหลักของอนุสัญญาทางทะเล ขณะที่ส่วนทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นหัวข้อหลักที่พูดคุยกันในวันนี้ แน่นอนว่า ทรัพยากรเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ส่วนบน เมื่อไทยกับกัมพูชามีการขีดเส้นแบ่งเขตแดนกันเรียบร้อยแล้ว พื้นที่พัฒนาร่วมที่ระบุไว้ใน MOU 44 พื้นที่ประมาณ 16,000 ตารางกิโลเมตร จะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ และอาจได้รับผลกระทบ
ขณะเดียวกัน สัมปทานที่ไทยได้เสนอสิทธิ์ให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ทางไทยและกัมพูชาได้พูดคุยกันประมาณหนึ่งว่าจะดำเนินการเรื่องต่อไปอย่างไร ซึ่งภาพทัศน์ที่ไทยไม่อยากให้เกิดก็คือการยกเลิกสัมปาน และรัฐบาลไทยต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับคนที่เคยได้รับสัมปทานไป โดยใช้ภาษีของประชาชนในการจ่าย
สำหรับกรณีที่ไทยและกัมพูชาได้ขีดเส้นแบ่งเขตแดนเรียบร้อยแล้ว ทรัพกรธรรมชาติบริเวณนั้น จะสามารถนำขึ้นมาใช้ได้ภายในระยะเวลา 25 ปี อ้างอิงจากกรอบ JDA ที่รัฐบาลไทยเคยทำไว้กับกัมพูชา ซึ่งหากทำให้สามารถนำทรัพกรขึ้นมาใช้ได้เร็วกว่านี้จะทำอย่างไรได้บ้าง เพราะปัจจุบัน โลกเริ่มเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาดมากขึ้น
นายศุภโชติ ยังกล่าวถึงองค์ประกอบของการตั้งคณะกรรมการ JTC ว่า ไม่ใช่แค่เรื่องเขตแดนอย่างเดียวที่จะต้องมีการเจรจา แต่ควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเข้าไปร่วมเจรจาด้วย หากเปรียบเทียบกับการตั้งคณะกรรมการ JTC ครั้งก่อน มีสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานค่อนข้างน้อย
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ที่จะมีคนการเมืองมาแทรกแทรงเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ JTC แต่ก็อยากให้ทุกคนเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งและให้การทำงานครั้งนี้เป็นกลางจริงๆ เพราะผลประโยชน์ที่จะได้ ทั้งจากพื้นที่อ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา OCA หรือ JDA หากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ JTC เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นคณะกมธ.จะดูองค์ประกอบโดยรวมต่อไป รวมถึงเห็นด้วยที่ควรมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนั่งหัวโต๊ะเจรจาด้านพลังงานกับกัมพูชาด้วย
ส่วนแนวโน้มที่ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเรียกร้องให้มีการยกเลิก MOU 44 นั้น กมธ.ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย เพราะการมี MOU 44 ถือเป็นกรอบเจรจาที่ค่อนข้างชัดเจนในระดับหนึ่ง แต่คงต้องมีการทบทวนเนื้อหาใน MOU 44 มากกว่า เพราะบริบทเนื้อหาภายในมีมามากกว่า 20 ปีแล้ว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews