ปธ.กกต.เชื่อแจก “แต๊ะเอีย” ตรุษจีนไม่ถึงขั้นซื้อเสียง
ประธาน กกต.ยัน บัตรเลือกตั้ง อบจ.อยู่ระหว่างจัดส่ง รถติดGPS ตรวจสอบได้ ส่งทีมสืบสวน เฝ้าระวัง “ปราจีนฯ” มั่นใจ ผู้สมัครรู้ข้อปฏิบัติหาเสียง แม้ใกล้ตรุษจีน ส่วน “แต๊ะเอีย” มองเป็นประเพณีไม่น่าถึงขั้นซื้อเสียง
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดการเลือกตั้งนายกอบจ.และบัตรเลือกตั้ง ว่า ส่วนของบัตรเลือกตั้งพิมพ์เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างกระบวนการที่จะส่งไปยังแต่ละจังหวัด ซึ่งกระบวนการส่งเราขอให้บริษัทไปรษณีย์ไทย ที่ทำการส่งบัตรเลือกตั้งทุกครั้งเป็นคนดำเนินการ จะมีการจัดรถขนบัตรไปรับที่โรงพิมพ์ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ นั่งไปกับรถทุกคัน รวมถึงการเอา GPS ติดเอาไว้กับรถที่ขนบัตรทุกคัน จะทำให้รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของรถแต่ละคัน เมื่อไปถึงจุดที่เป็นอบจ. แล้วก็จะเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกตั้งบริหารส่วนจังหวัด ที่ต้องรับผิดชอบเอาเข้าไปเก็บไว้ในห้อง ที่มีคนเฝ้าและมีกล้องวงจรปิด
นายอิทธิพร กล่าวว่า ในเรื่องอื่นๆนั้นก็มีความคืบหน้าและ มีการพูดคุยกับหน่วยงานที่จะทำหน้าที่การเลือกตั้งโดยมีการพูดคุยกันเมื่อวานนี้(9 ม.ค.) ซึ่งได้มีการไปเปิดอบรม ทำความเข้าใจ ในเรื่องการสืบสวนไต่สวนให้กับพนักงานสืบสวนไต่สวนและคณะกรรมการ จำนวน 500 กว่าคน และได้ให้แนวคิดเพิ่มเติม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงาน และในส่วนของชุดเคลื่อนที่เร็วก็จะมีการตั้งขึ้น เพื่อช่วยเรื่องป้องกันป้องปรามและปราบปรามการซื้อเสียง ซึ่งในส่วนของขั้นตอนสุดท้ายก็จะมีการอบรมอีกครั้งหนึ่งก่อนวันเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความแม่นยำในการปฏิบัติหน้าที่
“ส่วนตัวเลขที่อยากจะเอามาพูดในบริบทนี้ด้วย คือการทำงานของกปน.ในปี 66 ออกแถลงการณ์ใช้ชื่อว่า”กปนคือหัวใจของความสำเร็จการเลือกตั้ง“ ส่วนตัวเลขที่น่าดีใจคือเมื่อปี 62 มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกปน. 100 กว่าเรื่อง แต่ปี 66 เหลือเพียง 17 เรื่อง จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพในการทำงานของการเป็นกปน.อาจจะดีขึ้น เพราะฉะนั้นการอบรม 3 วันก่อนวันเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่สำคัญ ขอย้ำอีกทีว่าให้ระมัดระวังเรื่องอะไรบ้างควรทำอะไรบ้าง”
ส่วนกกต.จะมีการประเมินหรือไม่ว่าคนจะมาเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ จะเท่าเลือกตั้งใหญ่หรือไม่ นายอิทธิพร ระบุว่า มีการประเมิน ซึ่งได้มีการพูดคุยกันแล้ว ข้อเท็จจริงปี 2563 ที่มีการเลือกอบจ.ครั้งนั้นมีผู้มาใช้สิทธิ์ 62.86% ซึ่งถ้าเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไป หรือ การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในปี 66 จะเห็นว่าตัวเลขต่างกันถ้าเอาตัวเลขมาเทียบกันจะพบว่าตัวเลขของท้องถิ่น ต่ำกว่าการเลือกตั้งครั้งใหญ่แน่นอน แต่ถ้าเฉลี่ย 62.86% เป็นตัวเลขที่ดูไม่มากในบริบทของการเมืองไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกจังหวัดจะ 62 % นี่เป็นเพียงแค่ค่าเฉลี่ย ซึ่งจังหวัดที่สูงสุดคือจังหวัดพัทลุง 78% ตามด้วยลำพูน 77% เชียงใหม่ 71.95% ซึ่งตนเองมองว่าเยอะ ส่วนจังหวัดที่มีการเลือกตั้งน้อยนั้น ยกตัวอย่างเช่นจังหวัดนนทบุรีและบุรีรัมย์ 50%
นายอิทธิพร กล่าวอีกว่า อยากให้ประชาชนออกมาใช้สิทธืกันเยอะๆ หากใครที่ไม่ออกมาใช้สิทธิก็อยากให้แจ้งทางหน่วยงาน ว่าเหตุใดถึงไม่ออกมาใช้สิทธิ ถ้าหากไม่ไปแจ้งเหตุไม่ใช้สิทธิ ก็อาจจะถูกกำจัดสิทธิทางการเมืองในอนาคตได้ เมื่อถามว่ามีคำร้องเกี่ยวกับเรื่องหาเสียงหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ขณะนี้ที่เช็คเมื่อช่วงเช้า ตอนนี้มีอยู่ 30 เรื่องส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องซื้อเสียง
“การหาเสียงคือการที่ผู้สมัครเสนอนโยบายที่ตนเองจะเข้าไปปฏิบัติหากได้รับเลือกว่าจะทำงานด้านอะไรบ้างเพราะว่าอำนาจหน้าที่ของอบจ.ก็มีระบุไว้ในกฎหมายชัดเจน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเขาก็มีนโยบายชัดเจนเพราะฉะนั้นการหาเสียง ก็ควรที่จะอยู่ในกรอบส่วนขอบเขตของผู้ช่วยหาเสียงนั้น คือ ช่วยผู้สมัครหาเสียงในนโยบายที่ผู้สมัครประสงค์จะนำไปปฏิบัติเมื่อได้รับเลือกตั้ง ถ้าไปหาเสียงแล้วไม่พูดถึงนโยบายที่จะทำ ก็ไม่ใช่การหาเสียงและจะส่งผลกระทบต่อการที่จะไม่ได้คะแนน เพราะไปพูดถึงเรื่องอื่นโดยที่ไม่ได้พูดจะทำอะไรในบริบทที่เป็นงานตัวเอง คะแนนก็อาจจะไม่ค่อยได้”
ทั้งนี้ นายอิทธิพร กล่าวถึงข้อปฏิบัติของผู้สมัคร อบจ.ในช่วงเทศกาลตรุษจีนว่าอะไรที่ควรทำ ไม่ควรทำ ผู้สมัครได้รับการบรรยายอย่างชัดเจนจาก กกต.ทุกจังหวัด ในรูปแบบของการประชุมเชิงสมานฉันท์ อะไรที่เป็นการกระทำผิดกฎหมายโดยแท้ (1) ให้จัดให้เสนอให้สัญญาว่าจะให้กับผู้ใดผู้หนึ่ง (2) ให้ชุมชน ให้องค์กรสถาบัน (3) มหรสพ (4) จัดเลี้ยง (5) หลอกลวงใส่ร้ายบังคับ เป็นกฎกติกาที่มีทุกการเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่ามีอะไรที่ทำไม่ได้บ้าง
ขณะที่เรื่องที่ต้องแจ้งชื่อผู้ช่วยหาเสียง ก่อนการหาเสียงต้องแจ้งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบ และจะต้องมีการคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียงด้วย เพราะระยะหลังมีคำร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้สมัครจะต้องจดบันทึกเงินที่ใช้ในการหาเสียงทุกครั้ง และนำหลักฐานมาแสดงผลการเลือกตั้งมายื่นต่อ กกต.ภายใน 90 วันว่าใช้วงเงินในการหาเสียงไปเท่าไร หากแจ้งวงเงินไม่ครบก็มีความผิด เพราะกฎหมายระบุว่าต้องแจ้งให้ครบ
ขณะที่แต๊ะเอียในช่วงเทศกาลตรุษจีน ถือเป็นประเพณี หากช่วงที่มีการเลือกตั้ง หลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากเสี่ยงที่จะถูกมองว่าให้เงิน ส่วนกรณีงานแต่ง หากเป็นญาติจะช่วยเหลือได้มากน้อยแค่ไหนนั้นคงจะไม่ถึงขั้นซื้อเสียง เพราะเป็นประเพณีปฏิบัติ
นายอิทธิพร ย้ำว่า ส่วนที่เป็นสีเทาอะไรที่เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เมื่อข้อเท็จจริงมาถึง กกต.และถูกบรรจุในสำนวนหรือคำร้องก็จะต้องดูข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เพื่อชี้ว่าตั้งใจหรือเป็นประเพณีจริง ๆ แต่โดยทั่วไปธรรมเนียมไทยเมื่อญาติแต่งงานก็จะต้องมีการให้เงินอยู่แล้ว ไม่น่าจะแปลก สิ่งสำคัญคือ อย่าบอกเบอร์และหาเสียงเลือกตั้ง เพราะไม่เช่นนั้นจะถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยแท้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews