Home
|
บันเทิง

รีวิวซีรีส์ “Squid Game 2” การกลับมาของเกมเอาชีวิตรอดสุดโหด 

Featured Image

 

 

หลังจากความสำเร็จระดับโลกของ “Squid Game” ในปี 2021 ซีซั่น 2 กลับมาพร้อมความคาดหวังที่สูงมาก และต้องบอกว่าไม่ทำให้แฟน ๆ ผิดหวัง

 

              ในซีซั่นนี้ “Squid Game” ขนเกมใหม่มาเพียบ ทุกเกมยังคงความโหดเหี้ยมและกดดัน แต่ไม่ใช่แค่เกมที่เน้นการเอาตัวรอดทั่วไปอีกต่อไป เกมในซีซั่นนี้เล่นกับจิตวิทยา ความไว้เนื้อเชื่อใจ และการหักหลังอย่างหนักหน่วง ลุ้นจนแทบลืมหายใจ ทุกการตัดสินใจของตัวละครไม่ใช่แค่แพ้หรือชนะ แต่หมายถึงการเปิดเผยตัวตนแท้จริงของคนในสนาม  

 

              นอกจากนี้ เกมแต่ละเกมยังสอดแทรกการเสียดสีสังคมได้อย่างแหลมคม เช่น การบังคับให้คนต้องเลือกเพื่อตัวเองโดยแลกกับชีวิตของผู้อื่น ซึ่งสะท้อนภาพความเห็นแก่ตัวและความเหลื่อมล้ำในชีวิตจริงได้อย่างเจ็บปวด ขณะเดียวกัน ซีรีส์ยังถ่ายทอดมิติของ ‘ความหวัง’ ที่ดูเหมือนเป็นแสงสว่างในความมืดมิด แต่กลับกลายเป็นเครื่องมือที่ขับเคลื่อนความโหดร้ายในเกมเหล่านี้ ความจนที่กดทับตัวละคร ทำให้พวกเขาต้องยอมเสี่ยงแม้กับโอกาสที่ริบหรี่ เช่นเดียวกับความเห็นแก่ตัวที่มักปรากฏเมื่อชีวิตตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเอาชีวิตรอด มันคือภาพสะท้อนของโลกแห่งความจริงที่คนธรรมดาต้องดิ้นรนในสังคมที่ไม่ยุติธรรม และในเวลาเดียวกันก็ชวนให้ตั้งคำถามถึงจริยธรรมของการอยู่รอด เมื่อสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญคือเกม ที่ออกแบบมาเพื่อขยี้ความเป็นมนุษย์ในทุกมิติ

 

ตัวละครที่น่าจับตามองใน Squid Game 2

 

 ซองกีฮุน (อีจองแจ) หมายเลข 456

ซองกีฮุน

 

              การกลับมาของ ซองกีฮุน (อีจองแจ) เต็มไปด้วยพัฒนาการที่น่าติดตาม จากชายที่ดูไม่เอาไหนในซีซั่นแรก สู่ผู้ชนะรางวัลที่ต้องแบกรับเงินรางวัลมหาศาลและความรู้สึกผิดที่แลกมาด้วยชีวิตผู้อื่น ครั้งนี้เขากลับมาพร้อมจุดมุ่งหมายอันหนักแน่นเพื่อเปิดโปงผู้อยู่เบื้องหลังเกม และทำลายระบบเกมที่โหดร้าย แต่เขาต้องเผชิญกับความทรงจำเจ็บปวดเพื่อนร่วมเกมที่จากไป สิ่งที่เขาทำจะเป็นการทำให้คนอื่นต้องตกอยู่ในความเสี่ยงอีกครั้งหรือไม่ 

 

 ตักจีแมน (กงยู) 

 

            ชายปริศนาในชุดสูทดำที่มีบทบาทชักชวนผู้เล่นเข้าสู่เกมด้วยการเล่น “ตักจี” ในซีซั่นแรกเขาเป็นเพียงตัวละครที่น่าจับตามอง ในซีซั่นนี้เราจะได้เห็นบทบาทและปมเบื้องหลังของเขามากขึ้น

 

ฟรอนต์แมน (The Front Man) “อีบยองฮอน” 

 

 

             หัวหน้าผู้ควบคุมเกมใน Squid Game ผู้ที่ดูแลและจัดการทุกอย่างเบื้องหลังเกมเอาชีวิตรอดสุดโหด ในซีซั่นนี้เขาจะได้ปรากฏตัวในบทบาทที่แตกต่างออกไป เมื่อเขาลงสนามเองในฐานะผู้เล่นหมายเลข 001 การกลับมาของฟรอนต์แมนจะเปิดเผยมิติใหม่ของตัวละครที่ลึกลับและมีอำนาจ ภารกิจใหม่ที่ท้าทายยิ่งขึ้น และการที่เขาเลือกลงสนามเองก็เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง 

 

ฮยอนจู  (พัคซองฮุน) หมายเลข 120

 

 

           อดีตทหารหน่วยรบพิเศษที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ เธอเข้าร่วมเกมเพราะต้องการเงินสำหรับการผ่าตัดและการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศไทย ตัวละครนี้สะท้อนประเด็นเกี่ยวกับความยากลำบากของคนข้ามเพศในสังคมเกาหลีใต้

 

โนอึล (พัคกยูยอง)

 

          เป็นอดีตทหารเกาหลีเหนือที่ลี้ภัยมาเกาหลีใต้ ตัวละครตัวนี้เป็นเจ้าหน้าที่ใส่หน้ากากอยู่ในเกม แต่รู้มาว่าข้างในทำค้ามนุษย์

 

ธานอส (ท็อป BIGBANG) หมายเลข 230 

 

         เป็นแรปเปอร์ แต่สูญเงินไปกับการลงทุนในคริปโตเพราะความไว้ใจในตัว ‘มยองกี’ ยูทูปเบอร์ชื่อดัง เลยทำให้เขาต้องเข้ามาร่วมเล่น Squid Game

 

มยองกี (อิมซีวาน) หมายเลข 333

 

         เป็นยูทูปเบอร์ แต่ที่ต้องหนีหัวซุกหัวซุนเพราะทำให้คนหมดตัวจากการลงทุนในคริปโตที่เขาโฆษณาชวนเชื่อ 

 

 แดโฮ (คังฮานึล) หมายเลข 388

 

           เป็นอดีตนาวิกโยธิน  คังฮานึล ผู้รับบทนี้อธิบายเอาไว้ว่าเป็น “นักต้มตุ๋นที่ดูเป็นมิตร” ตัวละครนี้เหมือนมีความลับบางอย่างที่ถูกซ่อนเอาไว้ในตอนท้ายเรื่อง  รอซีซั่น 3 เฉลยปมของตัวละครนี้

 

 

เกมใหม่กติกาเดิม!

 

 

              ธีมหลักของเกมในซีซั่นนี้ยังคงวนเวียนอยู่กับ “เกมในวัยเด็ก” ที่ผู้เล่นทุกคนเคยผ่านตามา เกมที่มองว่าแสนง่ายและคุ้นเคย แต่เมื่อถูกดัดแปลงในบริบทของเกมเอาชีวิตรอด ทุกอย่างกลับกลายเป็น เกมแห่งความสิ้นหวัง  

 

              ที่ชัดเจนของเกมในซีซั่นนี้คือการใช้ “ความเชื่อใจ” เป็นหัวใจสำคัญ บางเกมต้องการความร่วมมือและการเสียสละอย่างแท้จริง เช่น การจับคู่เพื่อลงแข่ง หรือการรวมทีมเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ในขณะเดียวกัน ความเชื่อใจที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียวก็สามารถพลิกสถานการณ์และทำลายชีวิตของผู้เล่นได้ทันที แต่เมื่อถึงจุดที่กฎบังคับให้ “มีคนต้องแพ้”ความสามัคคีกลับกลายเป็นฉากหน้าของการทรยศ ความไว้วางใจที่ผิดพลาดกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดโศกนาฏกรรม  

 

             ความโหดที่ยังเทียบไม่ได้กับซีซั่นแรก แม้ซีซั่นนี้จะมีความน่าสนใจในแง่ของการพัฒนากติกาและกับจิตวิทยาของผู้เล่น แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางเกมยัง ไม่โหดหรือบีบคั้นเท่าซีซั่นแรก

 

โหวตชี้ชะตา  

 

            หนึ่งในกฎที่กลับมาในซีซั่นนี้คือ “สิทธิในการโหวต” หลังจากแต่ละเกมจบลง ผู้เล่นทุกคนจะมีโอกาสเลือกว่าจะ “เล่นต่อ” หรือ “ยุติ” โดยการกดปุ่ม เขียว เพื่อเล่นต่อ หรือ แดง เพื่อจบเกม เสียงส่วนใหญ่จะเป็นตัวตัดสินชะตากรรมของเกมต่อไป  

 

             กติกานี้แสดงให้เห็นถึงการเลือกที่เสมือนเป็นอิสระ แต่กลับแฝงความบีบคั้น เพราะทุกคนรู้ดีว่าการเล่นต่อหมายถึงการเผชิญความเสี่ยงที่มากขึ้น แต่การยุติก็หมายถึง ทุกคนได้กลับบ้านแต่จะสูญเสียเงินรางวัลที่เพิ่มขึ้นอาจเปลี่ยนชีวิตได้ 

 

ประเด็นทางสังคมที่เข้มข้นไม่เปลี่ยนแปลง 

 

 “ตักจีแมน” 

 

              ในซีซั่น2ของ Squid Game มีการขยายบทบาทและเรื่องราวของ “ตักจีแมน” (รับบทโดย กงยู) ซึ่งในซีซั่นแรกเขาโผล่มาเพียงฉากสั้น ๆ แต่กลับทิ้งความสงสัยไว้มากมาย ตัวละครนี้เป็นคนที่เชิญชวนผู้คนเข้าสู่เกมเอาชีวิตรอด ผ่านการเล่น “ตักจี” เกมตีแผ่นกระดาษที่กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความท้าทายและการเลือกเส้นทางที่ไม่มีวันหวนกลับ ซีซั่นนี้จึงเปิดโอกาสให้เราได้เห็นมิติที่ลึกซึ้งและความโหดเหี้ยมของเขามากขึ้น โดยเฉพาะในฉากที่เกี่ยวข้องกับ “ขนมปังและล็อตเตอรี่” ซึ่งสะท้อนประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างแหลมคม

 

ฉากขนมปังและล็อตเตอรี่

 

               หนึ่งในฉากที่น่าจดจำที่สุดของตักจีแมน คือฉากที่เขานำ “ขนมปัง” และ “ล็อตเตอรี่” ไปให้คนไร้บ้านเลือก โดยคำถามง่าย ๆ คือ “คุณจะเลือกอะไร?” ฉากนี้ไม่ใช่แค่การแจกของธรรมดา แต่เป็นการทดลองจิตวิทยาที่สะท้อนความคิดและความสิ้นหวังของคนในสังคม

 

  • ขนมปัง เป็นตัวแทนของความอยู่รอดในปัจจุบัน สิ่งที่ช่วยบรรเทาความหิวโหยและตอบสนองความต้องการพื้นฐานทันที
  • ล็อตเตอรี่ เป็นตัวแทนของความหวังในอนาคต โอกาสที่จะพลิกชีวิตแม้โอกาสนั้นจะน้อยนิดก็ตาม

 

            การเลือกของผู้คนในฉากนี้เผยให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่เลือก ล็อตเตอรี่ มากกว่าขนมปัง ทั้ง ๆ ที่มันไม่สามารถรับประกันผลลัพธ์ใด ๆ ได้ แต่กลับสะท้อนความปรารถนาของมนุษย์ที่อยากหนีจากวงจรของความยากจน และแสดงให้เห็นถึงสภาวะสิ้นหวังที่ผลักดันให้พวกเขาเลือกความหวังลม ๆ แล้ง ๆ แทนที่จะเลือกสิ่งที่ตอบโจทย์ความจำเป็นในทันที

 

           พฤติกรรมของตักจีแมนในฉากนี้บอกเล่าความลึกซึ้งในตัวละคร เขาไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนที่เชิญชวนผู้เล่นเข้าสู่เกม แต่ยังทำหน้าที่เป็นผู้ทดลองความคิดของมนุษย์ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก การให้คนไร้บ้านต้องเลือกระหว่าง “สิ่งจำเป็นในปัจจุบัน กับ “ความหวังในอนาคต” ไม่ได้เป็นเพียงการทดลองธรรมดา แต่ยังสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม และบีบคั้นให้ผู้คนแสดงตัวตนออกมาในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ

 

สรุป คุ้มค่าการรอคอยมั้ย? บอกเลยคุ้ม!

 

 

                “Squid Game 2” ไม่ได้เป็นเพียงภาคต่อที่สร้างมาเพื่อรักษากระแสความนิยม แต่เป็นการขยายจักรวาลของเรื่องราวให้ลึกซึ้งและเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ตัวละครทุกตัวมีพัฒนาการที่น่าติดตาม และประเด็นทางสังคมยังคงถูกนำเสนออย่างแหลมคมและท้าทายความคิดผู้ชมเหมือนเดิม

 

                  นอกจากการเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยมแล้ว งานโปรดักชันยังจัดเต็มด้วยฉากที่น่าทึ่ง เกมที่ออกแบบมาอย่างสร้างสรรค์ และการแสดงที่น่าประทับใจจากนักแสดงชื่อดัง ทั้งหมดนี้ทำให้ซีซั่น 2 เป็นมากกว่าซีรีส์ แต่เป็นบทสนทนาที่เปิดมุมมองเกี่ยวกับชีวิตและสังคม

 

                แม้ว่าซีซั่นนี้จะมีเนื้อหาที่เข้มข้น แต่ช่วงต้นของเรื่องมีการปูเรื่องที่ค่อนข้างช้า กว่าจะเข้าสู่จังหวะที่เข้มข้นจริง ๆ ต้องใช้เวลา และบางเกมอาจไม่ดุเดือดเท่าที่คาดหวัง แต่เมื่อถึงช่วงพีคของเรื่อง ความสนุกและความลุ้นระทึกจัดเต็มจนลืมข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปได้  

 

ถ้าคุณกำลังมองหาซีรีส์ที่ทั้งลุ้นระทึกและท้าทายความคิด “Squid Game Season 2” คือคำตอบที่ไม่ควรพลาด รับชมได้แล้ววันนี้บน Netflix!

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube