ชป.เดินหน้ารับมือฤดูฝนปี 2564
ชป.เดินหน้ารับมือฤดูฝนปี 2564 ย้ำบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ด้วยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชน ได้สั่งการไปยังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) นำโดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. กำชับให้ทุกหน่วยงานวางมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 2564 เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด นั้น
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ว่า ได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซาก ให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามวิเคราะห์แนวโน้มสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก (RULE CURVE) โดยพิจารณาปรับลดการระบายให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา พร้อมกับใช้อาคารชลประทานในการจัดการจราจรน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ประสานกับหน่วยงานระดับจังหวัดทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำรวมทั้งการแจ้งเตือนต่างๆ ไปยังประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการฯ เร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมทั้งเร่งขุดลอกคลองและแก้มลิง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งยังกำชับให้ทุกโครงการฯ เห็นถึงความสำคัญในเรื่องการกำจัดวัชพืชเช่นเดียวกับการบริหารจัดการน้ำ พร้อมให้สำนักเครื่องจักรกลระดมเครื่องจักรกลกว่า 5,800 หน่วย จากศูนย์บริหารเครื่องจักรกลในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศมาสนับสนุนให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน และสนับสนุนเพื่อการผลิตน้ำประปาให้กับประชาชน อีกทั้งยังช่วยระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มที่กำลังรุกขึ้นสูงในขณะนี้อีกด้วย
ด้านดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (26 เม.ย.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 36,487 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 12,694 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 16,390 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 87 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,975 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 2,279 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,801 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนฯ
ทั้งนี้ เนื่องจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำและในแม่น้ำสายหลักเพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย นับได้ว่าภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 63/64 เป็นไปตามแผนที่วางไว้และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในพื้นที่ลุ่มต่ำได้เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนปี 2564 ด้วยการวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝน บริหารจัดการน้ำโดยใช้น้ำท่าที่มีอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ในลุ่มน้ำยม สามารถตัดยอดน้ำหลากจากทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในทุกช่วงเวลาให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด หากหน่วยงานหรือประชาชนท่านใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปได้ที่โครงการชลประทานทุกแห่ง หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news