ทำไมเราไม่ต้องกลัวฉีดวัคซีนโควิด
ในขณะที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นให้ประชาชนลงทะเบียนรับวัคซีนโควิด 19 ซึ่งประเทศไทย มีการใช้อยู่ 2 ยี่ห้อ คือ “ซิโนแวค” และ “แอสตราเซเนกา” นั้น แต่ประชาชนไม่ค่อยให้ความร่วมมือเพราะกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น วันนี้ทีม INN ได้ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของวัคซีนแต่ละตัว และศึกษาผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนในต่างประเทศของแต่ละยี่ห้อที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมถึงวัคซีน 2 ยี่ห้อ ที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทย
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพบว่า อาการโดยรวมหลังฉีดวัคซีนทุกตัว มักจะพบ คือ อาการอ่อนล้า, ปวดหัว, ปวดเมื่อยและเป็นไข้ ซึ่งมีข้อมูลบ่งชี้ยืนยันตรงกัน ซึ่งในแต่ละชนิดวัคซีนที่มีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้น คือ “สัญญาน” การตอบสนองของวัคซีนที่ให้ร่างกายผู้ถูกฉีดสร้างภูมิคุ้มกันโรค
โดยข้อมูลจาก คู่มือวัคซีนฉบับประชาชน ของ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ เพจไทยรู้สู้โควิด และ ส.ส.ส. ระบุว่า มีปัจจุบัน(26เม.ย.64) มีวัคซีน 13 ชนิด ที่มีผลการทดสอบประสิทธิภาพในมนุษย์ระยะที่3 หรืออยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 และมีการอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ในบางประเทศแล้ว คือ
1.วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิต
เช่น วัคซีนของบริษัท AstraZeneca,วัคซีนของบริษัท Pfizer-BioNTech , วัคซีนของบริษัท Moderna, วัคซีนของบริษัท Johnson & Johnson, วัคซีนของสถาบัน Gamaleya และ วัคซีนของบริษัท CanSinoBio
2.วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมในการผลิตที่ใช้กับวัคซีนหลายชนิดมาก่อน
เช่น วัคซีนของบริษัท Sinovac , บริษัท Sinopharm-Beijing, บริษัท Sinopharm-Wuhan, บริษัท Bharat Biotech, สถาบันVector Institute, บริษัทAnhui Zhifei Longcom และ สถาบัน Chumakov Center
แพ้วัคซีนเท่ากับสร้างภูมิคุ้มกัน
สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ หลังการฉีดวัคซีนนั้นถือเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป ส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงและหายได้เองในระยะเวลาไม่นาน เช่น
- อาการไข้
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อตามตัว
- อ่อนเพลีย
- อาจมีอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด
ซึ่งอาการเหล่านี้เองที่อาจจะทำให้รูสึกไม่สบายตัวบ้าง ซึ่งเป็นสัญญานที่แสดงว่าร่างกายกำลังถูกวัคซีนกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อที่จะป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นอาการแพ้วัคซีน แต่สำหรับทางการแพทย์ อาการแพ้วัคซีนเกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนนั้นมากกว่าปกติ ซึ่งนับได้ว่าอาการแพ้เป็นส่วนหนึ่งของอาการไม่พึงประสงค์หลังจากการได้รับวัคซีน
วัคซีนผ่านการรับรองไม่อันตราย
วัคซีนแต่ละชนิดมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างกัน แต่วัคซีนที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนแล้ว ถือว่าผ่านการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษ และไม่ก่อผลข้างเคียงที่รุนแรง หรือหากพบผลข้างเคียงรุนแรง ก็พบในอัตราที่ต่ำมาก โดยอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนอาจ “เกิดจากวัคซีนโดยตรง” หรือ “อาจไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโดยตรง” ได้ เช่น อาการทางจิตใจ ความเครียด กังวล หรืออาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นพอดีกับการฉีดวัคซีน เช่น การเสียชีวิตจากโรคประจำตัวของผู้สูงอายุหลังการได้รับวัคซีน
แพ้รุนแรงพบน้อย หมอเอาอยู่
ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงจากการได้รับวัคซีนนั้นสามารเกิดขึ้นได้ แต่พบได้น้อยมาก โดยเฉพาะอาการแพ้อย่างรุนแรง หรือ ที่ในทางการแพทย์เรียกว่าการแพ้ชนิดแอนาฟิแล็กซิส
ซึ่งข้อมูลในปัจจุบันพบน้อยกว่า 5 ใน 1 ล้านเหตุการณ์ โดยอาการแพ้วัคซีนที่พบ ได้แก่ การมีผื่นขึ้น ลมพิษ คันบวมที่ใบหน้า ปาก หรือ ลำคอ หายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้ ปวดท้อง มักพบภายหลังการฉีดในช่วง30นาทีแรก ทำให้ต้องมีการพักสังเกตอาการ
อย่างไรก็ตามนอกจากประวัติการแพ้วัคซีนชนิดนั้นโดยตรง เป็นการยากที่จะคาดคะเนว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนรายใดจะมีอาการข้างเคียงแบบรุนแรง ซึ่งตามมาตรฐานทางการแพทย์จึงมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ไว้เต็มที่เพื่อรักษาอาการแพ้ได้ทันท่วงที
ปัญหาลิ่มเลือดพบได้น้อยมีระบบรองรับ
นอกจากอาการแพ้วัคซีนแล้ว การรับวัคซีนยังอาจจะเกี่ยวข้องกับปัญหาการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรง แต่พบได้น้อยมาก ซึ่งรัฐบาลมีความพร้อมในการเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และมีระบบรองรับและช่วยเหลือหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว
ทั้งนี้ในขั้นตอนหลังการรับวัคซีน โดยพักรอดูอาการ30นาทีแล้ว แต่หลังจากนั้นหากมีอาการข้างเคียงอื่นที่ไม่แน่ใจ เช่น มีผื่นลมพิษ ไข้สูงมาก หน้ามืด เป็นลม แขนขาอ่อนแรง เจ็บหน้าอก ให้ปรึกษาบุคลากรสุขภาพ หรือ โทรศัพท์ 1422 หรือ 1669
ในขณะที่ด้านประสิทธิผลของวัคซีน2ชนิดที่ประเทศไทยใช้อยู่นั้นมีการย้ำจาก นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูงทั้ง “ซิโนแวค” และ “แอสตราเซเนกา” ซึ่งการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด เร็วที่สุด จะช่วยหยุดสถานการณ์การระบาด ขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อวัคซีนและมารับวัคซีนที่โรงพยาบาลตามที่นัดหมาย วัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่มาถึงแขนเร็วที่สุด ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาทบทวนความปลอดภัยแล้ว วัคซีนที่ไทยใช้เป็นวัคซีนที่ดีใช้การได้ เมื่อฉีดจำนวนมากจะยุติสถานการณ์การระบาดของโรคพร้อมกันโดยเร็ว ประเทศจะได้เปิด ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไป”…เมื่อรู้อย่างนี้แล้วว่าการฉีดวัคซีน ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ดังนั้น เพื่อตัวเรา ครอบครัวและสังคม จึงควรช่วยกันลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว เพื่อเอาชนะ “โควิด” ไปด้วยกัน.
อาการข้างเคียงที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของวัคซีนแต่ละชนิด
1.วัคซีน ไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) – อาการข้างเคียงที่พบ อาจมีผื่นขึ้นตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่ฉีดวัคซีน, อาเจียน, หน้าบวม และหายใจติดขัด
**ในจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงเพียง 4.7 คนเท่านั้น และยังไม่พบผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการแพ้วัคซีนในสหรัฐอเมริกา
2.วัคซีน โมเดอร์นา (Moderna) – อาการข้างเคียงที่พบ อาจมีผื่นขึ้นตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่ฉีดวัคซีน, อาเจียน, หน้าบวม และหายใจติดขัด
**ในจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนของโมเดอร์นา 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงเพียง 2.5 คนเท่านั้น และยังไม่พบผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการแพ้วัคซีนในสหรัฐอเมริกา
3.วัคซีน แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) – อาการข้างเคียงที่พบ มีผื่นขึ้นตามร่างกายและหน้าบวม, ปวดหัว, อ่อนเพลีย, ปวดกล้ามเนื้อ, ไข้สูงหนาวสั่น, ปวดตามข้อ และคลื่นไส้
** เดนมาร์ก ออสเตรีย และในยุโรปบางประเทศ เคยชะลอการฉีดแอสตราเซเนกา หลังพบว่ามีผลข้างเคียงในบางรายเกิดการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดดำ แต่ในตอนหลังผู้ผลิตมีการยืนยันว่าปลอดภัย
4.วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) – อาการข้างเคียงที่พบ ปวดบริเวณที่ฉีด และปวดหัวเหมือนจะเป็นไข้
**จากการศึกษาในระยะที่ 3 ขั้นต้น ไม่มีการรายงานว่าพบผู้มีอาการข้างเคียงร้ายแรงอันเนื่องมาจากการได้รับวัคซีน แต่เมื่อใช้ในประเทศไทย มีรายงานเกี่ยวกับอัมพฤกษ์ชั่วคราว, อาการแขนขาอ่อนแรง และ มีกำลังกล้ามเนื้อที่ลดลง
5.วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) – อาการข้างเคียงที่พบ ปวดบริเวณที่ฉีด, ปวดหัวไข้สูง, ปวดกล้ามเนื้อ, อ่อนเพลีย และคลื่นไส้
**จากการศึกษาในระยะที่ 3 ขั้นต้นไม่มีการรายงานว่ามีอาการข้างเคียงร้ายแรง แต่หลังเริ่มฉีด มีหลายประเทศอาทิ สหรัฐฯ,แอฟริกาใต้,เดนมาร์ก สั่งระงับหลังพบภาวะลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนนี้ และเสียชีวิต 1 คน
6.วัคซีน โนวาแวกซ์ (NOVAVAX) – อาการข้างเคียงที่พบ ปวดบริเวณที่ฉีด บางรายอาจมีต่อมน้ำเหลืองโต และตัวร้อน
** จากการศึกษาในระยะที่ 3 ขั้นต้นไม่มีการรายงานว่าพบผู้มีอาการข้างเคียงร้ายแรงอันเนื่องมาจากการได้รับวัคซีน
7.วัคซีน สปุตนิก วี (Sputnik V) – อาการข้างเคียงที่พบ ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด , ปวดหัว และอ่อนเพลีย
**จากการศึกษาในระยะที่ 3 ขั้นต้นไม่มีการรายงานว่าพบผู้มีอาการข้างเคียงร้ายแรงอันเนื่องมาจากการได้รับวัคซีน แต่ชาวรัสเซียไม่สมัครใจที่จะฉีดสปุตนิก วี เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบความปลอดภัยอยู่
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 แบ่งเป็น ตาย/ทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 4 แสนบาท, เสียอวัยวะ/พิการ ไม่เกิน 2.4 แสนบาท , และบาดเจ็บ/เจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 1 แสนบาท โดย สปสช. จะแต่งตั้งกลไกเพื่อให้สามารถจ่ายได้ภายใน 5 วัน หลังยื่นคำร้อง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news