รีวิวภาพยนตร์ “Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2”
ในที่สุด 9 ปีที่รอคอย กลับมาพร้อม 9 อารมณ์
ย้อนไปเมื่อปี 2015 Disney ได้พาทุกคนไปพบกับอนิเมชั่นที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึก พาเราดำดิ่ง สร้างความทรงจำผ่านเรื่องราวสุดวิเศษ จนครองใจใครหลายคนกับ Insideout มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง
อนิเมชั่นที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม กลายเป็นหนึ่งในอนิเมชั่นของ Disney ที่ครองใจใครหลาย ๆ คนเลยทีเดียว โดยเฉพาะตัวละครหลัก ทั้ง 5 ตัว นำทีมโดย ลั้ลลา , เศร้าซึม , กลั๊วกลัว , ฉุนเฉียว และ ขยะแขยง ตัวละครที่เปรียบเสมือนอารมณ์หลักของเรื่องนี้ ครบทุกอารมณ์จนทุกคนเรียกร้องภาคต่อกันตลอด 9 ปีที่ผ่านมา
และในที่สุด วันที่ 12 มิถุนายน 2024 Insideout2 ได้กลับมาฉายอีกครั้ง เรียกได้ว่า ครบรสทุกตัวละครยิ่งกว่าเคย
เพราะในภาคนี้ มีตัวละครอารมณ์ใหม่ ๆ มาเพิ่มอีกถึง 4 ตัวละคร เริ่มจากตัวเอกในภาคนี้อย่าง “ว้าวุ่น” อารมณ์ที่จะมาสร้างความปั่นป่วนให้กับ “ไรลีย์” สาวน้อยนักกีฬาฮอกกี้
ในภาคนี้ สาวน้อยที่พวกเราหลงรัก ต้องมาเจอกับวัยกำลังเข้าสู่ช่วงฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง แถมยังมีตัวละครพิเศษที่ต้องคอยจับตาดูว่าเขาจะโผล่เมื่อไหร่อีกด้วย
หากจะให้เราสรุปสั้น ๆ บอกได้แค่ว่า
“คุณจะต้องตราตรึง ตกหลุมรักเรื่องราว โลดแล่นไปทุกอารมณ์ตลอดระยะเวลาที่ดู และประทับใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนแน่นอน”
เนื้อหาต่อไป มีการสปอยเนื้อหาบางส่วน
จุดเริ่มต้นของ Inside Out
ก่อนอื่น ใครหลาย ๆ คนอาจไม่รู้มาก่อนว่า แรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ มาจากผู้กำกับ อย่าง “Pete docter” ที่เขาได้นำเรื่องราวในชีวิตของลูกสาวตัวเอง มาเป็นแรงบันดาลใจ เพราะว่า ได้เจอกับลูกสาวตัวเองในวัย 11 ปี เวอร์ชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จนเขานั้น ถึงกับตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งเหล่านี้มันคืออะไร เกิดอะไรขึ้น ภายในหัวของลูกสาวกันแน่… จากคำถามกลายเป็นเรื่องราวของ Inside Out
เหตุการณ์ฉุกเฉินของ “วัย ว้า วุ่น”
เราทุกคนล้วนมีความเปลี่ยนแปลงในทุกวัน ทุกชั่วโมง ไม่ใช่แค่ร่างกายที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ความรู้สึกและอารมณ์ก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่นเดียวกับ สาวน้อย “ไรลีย์” ตัวละครเอกของเรื่อง ที่ในภาคนี้ เธอได้โตขึ้นมาอีกขั้น
จากตอนเด็กเธอจะมีความรู้สึก เสียใจก็แค่ร้องไห้ออกมาตรง ๆ, มีความสุขก็จะร่าเริง , เจอผักที่ไม่อยากกินก็ขยะแขยง เพราะด้วยความที่เป็นเด็กไร้เดียงสา เมื่อรู้สึกอะไรก็จะแสดงออกมาตามที่รู้สึก ไม่ได้มีความซับซ้อนหรือมีความคิดที่วุ่นวาย
จนเมื่อเธอ เข้าสู่ช่วง “วัยแตกสาว หรือ วัยทีน” วัยที่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป แบบไม่ทันตั้งตัว แต่ต้องมาเจอกับสภาวะร่างกายและฮอร์โมนที่แตกต่างจากเดิม เริ่มจาก ไรลีย์ ต้องรับมือกับร่างกายที่ไม่เหมือนเดิม เช่น มีกลิ่นตัว จากไม่เคยมีมาก่อนในชีวิต ในวันนี้กับมีมันขึ้นมา จะให้รับมือ ณ เวลานั้นเลย ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยสักนิด มันไม่ใช่แค่ความรู้สึกขยะแขยง หรือ โกรธ มันซับซ้อนยิ่งกว่านั้น ซึ่งมันคืออะไรนะ?
หนังพาเราคิดตามตัวละครได้อย่างแนบเนียน ชวนสงสัยในอารมณ์ แต่ไม่ว่าคุณจะคิดหรือได้คำตอบแบบไหน เราก็ได้ความรู้สึกที่ซับซ้อน เช่นเดียวกับสาวน้อยอย่าง “ไรลีย์” เพราะเธอหงุดหงิดและไม่เข้าใจตัวเอง
กลายเป็นว่า สิ่งเหล่านั้นทำให้ในหัวของเธอมีอารมณ์อื่นเข้ามา มันคืออารมณ์อะไรกันล่ะ? ติ๊กต๊อกๆ คิดอยู่ละสิ หนังพาเราไปรู้จัก อารมณ์ “ว้าวุ่น” เจ้าตัวส้มสุดป่วนที่รับมือได้ยากที่สุด รู้แล้วสินะว่า ชีวิตแห่งความเป็นจริงจะเริ่มขึ้นในอีก สาม สอง หนึ่ง…………
ความเป็นจริงที่ต้องรับมือ
ถึงแม้ว่าเราจะรู้จักหรือเข้าใจตัวเองมากแค่ไหน แต่ทุกคนเชื่อไหมว่า เรามักมีความย้อนแย้งในตัวเอง เช่น บางเรื่องที่ยากจะเข้าใจ บางเรื่องเหมือนจะเข้าใจแต่ก็ไม่เข้าใจมันเลยสักนิด เหมือนกับ ไรลีย์ หลังจากที่เธอต้องรับมือกับอารมณ์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ว้าวุ่น , อิจฉา , เขินอาย และเบื่อหน่าย ทำให้เธอต้องจัดการกับระบบความคิดและอารมณ์ใหม่ยกแผงเลยทีเดียวแหละ
ก้อนแห่งความทรงจำ
ทุกคนยังจำกันได้ไหม ในภาคแรกเจ้าก้อนกลม ๆ หรือลูกแก้วหลากสี ที่เอาไว้เก็บความทรงจำของไรลีย์ ก้อนความทรงจำมันเกิดจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าความทรงจำนั้น จะเกิดจากสาเหตุอะไรก็ตาม แต่สิ่งสำคัญหนังในภาคนี้อยากให้เราได้รู้คือ “ทุกความทรงจำล้วนคือตัวตนของเรา” และ “ความเชื่อ” จุดนี้บอกเลยว่าต้องไปดูด้วยตัวเอง มันจะสะท้อนตัวเราแบบคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
จุดกำเนิดของตัวตน
ในภาคนี้ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลย ว่า ทีมสร้างเน้นไปที่ความสมจริงมากขึ้น โดยเฉพาะอารมณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับ “ไรลีย์” เพราะในช่วงวัยนี้ สิ่งที่ไรลีย์ต้องการที่สุดคือ “การเป็นที่ยอมรับ” อยากให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับจากเพื่อน และคนที่มีผลต่อตัวเธอเอง
เธอจึงต้องรับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ความอิจฉา หรือ บางเรื่องที่เธอถึงขั้นเบื่อหน่าย จนปล่อยเบลอแบบไม่สนโลกอะไรทั้งสิ้น พร้อมกันเธอต้องจัดการกับความว้าวุ่นที่เกิดขึ้นภายในตัวของเธอ จนกลายเป็นความวิตกกังวล เธอต้องติดอยู่กับความกังวลนี้ คอยจินตนาการไปเองว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับเธอในอนาคต พยายามหลีกเลี่ยงทุกสิ่ง ที่จะทำให้เธอผิดหวัง………
จากความเชื่อสู่การยอมรับตัวตน
และถึงแม้ว่า เธอจะพยายามอย่างมาก เพื่อให้ตัวเองเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ จนได้กลายเป็นที่ยอมรับแต่หนังจะทำให้เราได้เห็นว่า “การเรียนรู้ที่จะยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น” ทำให้ ไรลีย์ ได้ค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง
เพราะในโลกของความเป็นจริงไม่มีใครที่ Perfect หรือ สมบูรณ์แบบไปซะทุกอย่างทุกคนล้วนมีจุดบกพร่อง จุดที่ไม่ชอบในตัวเองเลยสักนิด หรือ จุดที่ถ้าใครได้รู้จักคงไม่เราชอบแน่ ๆ แต่อย่าลืมไปเด็ดขาดว่า ทุกสิ่งอย่างล้วนมีปัจจัยที่ถูกสร้างขึ้น เช่นเดียวกับ ความเชื่อ เมื่อไหร่ที่เราเชื่อมั่นในตัวเอง ก็ไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องสมบูรณ์แบบเพื่อให้ถูกยอมรับ ขอแค่เราเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ว่าใครก็จะยอมรับตัวตนเรา เหมือนกับที่เรายอมรับตัวตนของตัวเอง
อีกหนึ่งเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลย คืองานภาพของภาพยนตร์นี้ เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ว่างานภาพและเสียงที่มาจาก Disney และ Pixar ดีมากขนาดไหน เรื่องนี้ก็ไม่แพ้เรื่องอื่นอย่างแน่นอน ด้วยดีเทลที่สวยสะดุดตายิ่งกว่าเดิม ไม่ว่าจะสีสด ลายเส้นสวย จนทำให้ผู้ชมต้องตื่นตาตื่นใจไปกับทุก ๆ ซีนที่เห็น หรือเสียงพากษ์ที่ถูกคัดสรรมาอย่างดีเยี่ยมเพราะ ได้ทีมพากย์สุดเจ๋ง เหมาะสมกับคาแรคเตอร์ทุกตัวละคร
“จงค้นหา Inside ที่อยู่สุดก้นบึ้งของคุณให้เจอแล้วยอมรับมัน”
รับรองว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ จะถูกประทับลงไปในก้อนความทรงจำของพวกคุณอีกนาน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อายุเท่าไหร่ เด็ก ผู้ใหญ่ เป็นพ่อ หรือเป็นแม่คนแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่แค่อนิเมชั่นที่สร้างมาเพื่อเด็ก ๆ อย่างเดียวเท่านั้น แต่เขาสร้างมาเพื่อคนทุกวัยด้วยเช่นกัน
สำหรับใครที่ไม่อยากพลาดกับการสัมผัสมวลความรู้สึก Emotional ดี ๆ แบบนี้ สามารถรับชมภาพยนตร์ Insideout2 ได้เลยที่โรงภาพยนตร์ คอนเฟิร์มไว้ตรงนี้เลยว่า คุณจะต้องตราตรึงและประทับใจอย่างแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ
Pixar
Disney
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews