5 ความจริงจาก 5 นักแสดงใน “Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย” ลิมิเต็ดซีรีส์โดย Netflix ที่จะพาคุณไปยืนติดขอบเวทีมวย
อีกไม่นานผู้ชมจะรู้จักวงการมวยมากขึ้น เมื่อ Netflix เตรียมปล่อยลิมิเต็ดซีรีส์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงอย่าง Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย ที่มีหมัดเด็ดคือการถ่ายทอดเรื่องราวออกมาในรูปแบบที่แตกต่าง รวมถึงการรวมเรื่องราวจากปากเหล่าตัวจริงในวงการมวย วันนี้ 5 นักแสดงหลักจะมาเล่าว่า พวกเขาทำอย่างไรให้เข้าถึงบทบาทอย่างสมจริงจนกลายเป็นตัวละครที่เป็น ตัวแทนของฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนวงการมวยไทยได้อย่างถึงลูกถึงคน
นัท – ณัฏฐ์ กิจจริต ตัวแทน “เซียนมวย” กับ “การศึกษาจากสนามมวยจริง”
“ผมไปนั่งดูมวยที่สนามมวยลุมพินี ที่นั่งจะแยกกันเป็นโซนๆ สำหรับเซียนมวย พอเข้าไปเห็นของจริงผมก็ได้ศึกษาท่าทาง เซียนมวยทุกคนเขาจะมีกระเป๋าใบเล็กๆ แล้วเขาจะมีท่าทางเหมือนกันหมดเลยคือจะเอามือจับกระเป๋าไว้ตลอดเวลา เพราะมันมีเงินมหาศาลอยู่ในนั้น ผมได้ไปเห็นท่าทาง ได้เห็นภาษามือที่เขาใช้สื่อสารกันจริงๆ ก็ช่วยให้เข้าใจตัวละครมากขึ้นครับ”
ปู – วิทยา ปานศรีงาม ตัวแทน “กรรมการผู้ชี้ขาดบนเวที” กับ “การเทรนจากตัวจริง”
“ผมได้ไปเทรนกับกรรมการห้ามมวยจริง ไปซ้อมที่ค่ายมวยอยู่หลายวัน และก็พยายามหาข้อมูลด้วยตัวเองเพื่อให้แสดงท่าทางออกมาเหมือนกรรมการตัวจริงมากที่สุด เมื่ออยู่ในฉากระหว่างนักมวย มีกล้องอยู่บนเวที การเคลื่อนไหวให้เป็นธรรมชาติ จังหวะถูกต้อง ในขณะที่ก็ต้องแสดงอารมณ์ไปตามความคิดของตัวละคร ณ เวลานั้น เป็นสิ่งที่ท้าทายมากและไม่เคยทำ สำหรับการเตรียมตัวอื่นๆ ก็ใช้ความสนใจเรื่องมวยที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เด็กๆ เพราะคุณพ่อเคยเป็นนักมวย ประสบการณ์จากการเป็นนักกีฬาและกรรมการเคนโด้ในอดีต ผมยังได้ใช้ประสบการณ์จากการถ่ายทำเรื่องอื่นๆก่อนหน้านี้ รวมถึงประสบการณ์ชีวิตของผมเองมาช่วยด้วย”
เอก – ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ตัวแทน “เซียนมวยรุ่นใหญ่” กับ “การสร้างตัวละครให้มีชีวิตจริง”
“ทีมงานและผมหาข้อมูลกันเยอะ คุยกันเยอะในการปรับบทบาทให้เหมาะสมกับผู้แสดง เพื่อวางตัวละครให้มีตัวตนเกิดขึ้นจริง ตั้งแต่ที่มา โตเป็นหนุ่ม เข้าวงการ เจอปัญหาอุปสรรค ฝ่าฟัน จนกลายมาเป็นผู้มีอิทธิพลได้ เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง ให้ทั้งหมดนี้ฝังอยู่ในตัวผมซึ่งเป็นคนแสดงถ่ายทอด ผ่านสีหน้า ท่าทาง แววตา นี่คือหน้าที่ของผมในการถ่ายทอดตัวละครนี้ ซึ่งเบื้องหลังบทบาทการแสดงจะมีที่มาที่ไปว่า ทำไมตัวละครนี้ถึงมาเป็นเซียนมวยรุ่นใหญ่ได้ อะไรคือเหตุจูงใจให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ และจะส่งผลอะไรในอนาคต ในการทำงาน มีการพูดคุย จินตนาการ ผมใช้เวลาในการหาข้อมูลไม่นานเท่าไร เพราะเริ่มหาตั้งแต่มีการคุยกันก่อนรับงาน”
ปีเตอร์ – นพชัย ชัยนาม ตัวแทน “เทรนเนอร์” กับ “การเรียนรู้พร้อมนักมวยตัวจริง”
“ผมไปดูเวทีมวยเล็กๆ ที่นักมวยเด็กเขาต่อยกันจริงๆ ให้เห็นบรรยากาศ ทีมงานพาผมไปเจอน้องภู (ภูริภัทร พูลสุข) ไปดูเขาฝึกที่ค่ายมวยของพ่อเขา แล้วผมก็ไปฝึกกับเขา ให้มีลักษณะเหมือนครูมวย ให้ออกท่าให้ถูก แล้วก็จัดท่าจัดทางให้เราซ้อมกับน้อง เพื่อที่ว่าเวลาเราจะล่อเป้า การใช้ท่าทาง หรือวิธีพูดต่างๆ จะได้สมจริง ซึ่งสนุกครับ แต่ก็ยากด้วย เพราะน้องเขาเป็นนักมวยจริงๆ แต่เราเพิ่งมาฝึกล่อเป้า ก็จะต้องหาจังหวะนิดนึง ทีมงานยังพาผมไปดูน้องภูขึ้นเวทีชกจริงด้วย ให้เห็นว่าสถานการณ์จริงเป็นยังไง คนมาเชียร์เป็นยังไง ข้างเวทีเป็นยังไง อันนี้เป็นส่วนที่ช่วยได้มากเลยในการทำความเข้าใจว่าลักษณะของครูมวยเป็นแบบนี้นะ หรือเวลาเชียร์ทำไมถึงตื่นเต้นขนาดนั้น ทำไมถึงลุ้นขนาดนั้น แล้วก็ทำไมการชกมวยถึงมีความหมายกับนักมวยเด็ก เพราะเขาซ้อมหนักมาก วิ่งเช้า ไปเรียนหนังสือ ตอนบ่ายกลับมาซ้อมต่อ ทำให้เราเข้าใจว่าชัยชนะของเขามันมีความหมายมาก”
ภู – ภูริภัทร พูลสุข ตัวแทน “นักมวยรุ่นเยาว์” กับ “การเป็นนักมวยตัวจริง”
“ผมเป็นนักมวยอยู่แล้วครับ พอเป็นนักแสดง ตอนแรกผมคิดว่าไม่ยาก พอทำเข้าจริงยากครับ เพราะต้องทำอารมณ์ตามบทบาทที่ได้รับ ตอนที่ถ่ายซีนอารมณ์ก็ต้องบิ้วอารมณ์ สมมุติว่าเป็นซีนที่ต้องร้องไห้ พี่ๆก็จะบอกให้คิดว่า ผมคือวิเชียรจริงๆ ไม่ใช่ภู ให้ผมทำความเข้าใจตัวละครให้ลึกซึ้ง ผมยังไม่รู้เลยว่า ผมทำได้ยังไง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ เพราะเป็นเรื่องแรกที่ผมได้รับบทเป็นตัวหลัก ผมก็มองว่าในซีรีส์และในชีวิตจริงของนักมวยไม่ต่างกันเลย คล้ายกันมากๆ เพราะพี่แชมป์ ผู้กำกับก็จะคอยถามเวลาถ่ายทำว่า ชีวิตจริงเป็นแบบนี้ไหม เขาพยายามทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ออกมาตรงกับชีวิตจริงมากที่สุด ถ้าสิ่งไหนไม่เหมือนก็จะคุยกับคนอื่นๆแล้วก็ปรับให้เหมือนชีวิตจริงที่สุดครับ”
Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย เป็นผลงานการกำกับโดย กิตติชัย วรรณ์ประเสริฐ ควบคุมการสร้างโดย ภัทนะ จันทร์เจริญสุข รับชมพร้อมกันทั่วโลก 13 กรกฎาคมนี้ ทาง Netflix เท่านั้น!