The Glory กับสังคมไทย ประเทศที่การกลั่นแกล้งสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก
คำเตือน มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในซีรีส์
The Glory เรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่ทุ่มทั้งชีวิตเพื่อแก้แค้นเหล่าคนที่เคยรังแกเธอในวัยเด็ก ซีรีส์ถูกพูดถึงในช่วงที่ผ่านมา เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมอย่างมาก ด้วยเมสเสจที่ง่ายแต่ทรงพลัง “การโดนบูลลี่ การถูกกลั่นแกล้งจากคนที่เหนือกว่าในสังคม”
หากใครจะมองว่าเรื่องราวในซีรีส์เกินจริง ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากเพราะเรามักเห็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง แถมในช่วงวัยเด็กปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เราต่างอาจเคยเป็นเหยื่อการบูลลี่ทางใดทางหนึ่ง
อย่างหนึ่งสถานการณ์ที่ซีรีส์ถ่ายทอดให้เรา ฉากที่มุนดงอึนถูกที่หนีบผมนาบ ก็มีการเผยว่าเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นในเกาหลี โดยเด็กผู้หญิงถูกทำร้ายเกือบ 1 เดือน เธอถูกทุบตีเพื่อรีดไถเงินโดยที่บ้านเธอก็ไม่ได้ร่ำรวย แรงที่สุดก็คือถูกที่หนีบผมนาบกับผิวจนเป็นแผล
เช่นเดียวกับซีรีส์เกาหลีน้ำดีเรื่องอื่นๆ ที่มันได้ส่งเมสเสจบางอย่าง เรื่องบางเรื่อง ทำให้สังคมได้พูดถึงประเด็นที่ต้องการเล่า The Glory ทำหน้าได้อย่างดีเพราะมันทำให้ทุกคนกลับมาพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ไม่เว้นแม้แต่ในไทยเองและนี่คือสิ่งที่อยากชวนคุยสั้นๆ วันนี้
ในสังคมไทยโดยเฉพาะแพลตฟอร์มอย่างทวิตเตอร์ ได้มีการแชร์ประสบการณ์ พูดถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเอง รวมถึงมีการพูดถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงไม่ว่าจะในฐานะเหยื่อหรือผู้กระทำ
หลายความเห็นบอกตรงกันว่าเรื่องการบูลลี่ในสังคมไทยนั้นมีมานานมาก ผ่านรูปแบบการแกล้ง การรีดไถ่ การแบนออกจากกลุ่ม การบูลลี่เรื่องรูปร่างหน้าตา เพศ แต่ที่น่ากลัวคือสังคมไทยมักโยนความผิดให้เหยื่อ ว่าทำไมไม่ออกมาปกป้องตัวเอง เรื่องนานแล้วไม่เห็นออกมาพูด อีกทั้งสังคมมักมองว่าเป็นการเล่นกัน สังคมไทยควรให้อภัยกันและบอกให้เหยื่อ “อดทน”
อย่าไปยุ่งเรื่องของคนอื่น คงไม่เป็นอะไรมั้ง ไม่ยุ่งดีกว่าเดียวจะโดนเกลียดไปด้วย เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้วงจรบูลลี่ยังเดินต่อไปได้ การที่เห็นแต่ไม่อยากยื่นมือไปช่วย สิ่งนี้เรียกว่า Bystander Effect สิ่งนี้พบในได้มากเมื่อเกิดการบูลลี่ในไทยในยุคก่อนๆ
ข้อมูลอ้างอิงจากกรมสุขภาพจิตเผยว่า ประเทศไทยมีสถิติมีผู้ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนถึงปีละ 600,000 คน สูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น
การถูกกลั่นแกล้งนั้นสร้างแผลในใจ ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งนั้นจะมีผลต่อสภาพจิตใจที่อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า สูญเสียความมั่นใจ ชีวิตที่ไม่มีความสุข คิดจะแก้แค้น จากการสำรวจในกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาในปี 2558 โดยกระทรวงสาธารณสุข พบว่าผู้ที่โดนกลั่นแกล้งมีแนวโน้มฆ่าตัวตายมากกว่าคือร้อยละ 20.6% เมื่อเทียบกับ 8.5% ในกลุ่มที่ไม่ถูกกลั่นแกล้ง
จากข้อมูลเบื้องต้นและสิ่งที่ได้เห็นบนโลกออนไลน์ ไม่แปลกใจที่ The Glory จะกลายมาเป็นที่พูดถึงเพราะเป็นเรื่องราวที่ใครหลายคนต้องเจอและทนเก็บเอาไว้ในใจมาตลอด มันคือประสบการณ์ร่วมที่ไม่มีใครอยากเจอ
การแก้ปัญหาคงต้องทำจากหลายส่วนไม่ว่าจะจากกฏหมาย การเลี้ยงดู การเอาจริงกับประเด็นนี้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม หรือง่ายที่สุดเริ่มจากให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อ ไม่ใช่เบลมผู้ถูกกระทำ ไม่งั้นเราคงไม่ต่างอะไรจากตัวละครในซีรีส์ที่เบลมมุนดงอึนจนเธอต้องมีแผลใจที่ไม่มีทางลบออกไปได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอขอบคุณข้อมูล