สะท้อนภาพความปวดเจ็บของทหาร ผ่านซีรีส์ D.P.
ช่วงม.ปลายหลายคนคงจะเคยผ่านช่วงเวลาที่ต้องเรียน ร.ด. ตัดผมเกรียน และไปฝึกกลางแดดร้อน ราวกับซ้อมตกนรก แต่ถ้าใครที่เลือกจะไม่เรียน ก็อาจจะต้องแลกกับการไปวัดดวงจับใบดำใบแดงในช่วงเกณฑ์ทหาร ซึ่งถ้าหากโดนใบดำเข้าไปรับใช้ชาติ แม้จะดูมีเกียรติ แต่เราก็มักจะเห็นข่าวในแง่ลบที่เกิดขึ้นกับทหารเกณฑ์อยู่เป็นประจำ
และดูเหมือนว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะไม่ได้เกิดแค่ในไทย เพราะในช่วงปี 2021 ก็ได้มีซีรีส์เกาหลีเรื่อง “D.P.หน่วยล่าทหารหนีทัพ” เข้าฉายทาง Netflix โดยเนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับภารกิจจับกุมพลทหารหนีทัพ ซึ่งแต่ละคนก็มีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป
เนื้อเรื่องจะเล่าผ่าน อันจุนโฮ นายทหารหนุ่มในหน่วยสารวัตรทหาร ที่ต้องเข้ากรมรับใช้ชาติตามปกติเหมือนชายหนุ่มทั่วไป ก่อนจะถูกส่งตัวไปอยู่หน่วยพิเศษที่ทำหน้าที่ไล่ล่าจับกุมเหล่าทหารหนีทัพ ทำให้เขาเผชิญกับความจริงอันเจ็บปวดที่เหล่าทหารเกณฑ์ทั้งหลายต้องประสบระหว่างปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติ นำแสดงโดย จองแฮอิน คูคโยฮวัน และคิมซองกยุน
ตัวซีรีส์สะท้อนให้เห็นถึงความโหดร้ายภายในกองทัพเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ข่มเหงจากเพื่อนร่วมรุ่น หรือแม้แต่นายทหารยศใหญ่กว่า และในวันที่ 28 กรกฏาคม 2023 นี้ ซีรีส์ D.P. ซีซั่น 2 ก็จะเข้าฉาย
ในวันนี้ เราจึงจะมาพูดถึงเรื่องราวด้านมืดของระบบทหาร ผ่านซีรีส์ D.P. ที่จะทำให้เห็นความเจ็บปวดและโหดร้ายที่ทหารเกณฑ์ต้องได้รับ
เกณฑ์ทหาร หน้าที่ของผู้ชายที่เลี่ยงไม่ได้
ถ้าพูดถึงการเกณฑ์ทหารในประเทศไทย เป็นที่รู้กันดีว่าเมื่อถึงอายุ 21 ปี ชายไทยจำเป็นจะต้องเข้าการตรวจเลือกทหาร โดยการจับใบดำ-ใบแดง ถ้าโดนใบแดงก็จำเป็นจะต้องเข้ารับใช้ชาติเป็นเวลา 2 ปี ถ้าได้ใบดำก็รอดตัว
แต่สำหรับใครที่ไม่ต้องการเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ก็จะมีตัวเลือกอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการฝึกร.ด.หรือที่เรียกกันว่ารักษาดินแดน ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นกำลังพลสำรอง ทำให้ไม่จำเป็นต้องเกณฑ์ทหาร แต่ก็ต้องผ่านการฝึกไม่ต่างจากทหารเป็นระยะเวลาถึง 3 ปี ทั้งยังต้องผ่านการทดสอบร่างกายอีกด้วย
อาจจะเรียกว่าเป็นโชคดีในโชคร้ายของชายไทยที่มีระบบดังกล่าวขึ้นมา เพราะถ้าเป็นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ จะไม่มีการเรียนร.ด.แต่อย่างใด ผู้ชายในประเทศเกาหลีใต้ทุกคน จำเป็นจะต้องเข้ากรมเพื่อรับใช้ชาติ ไม่เว้นแม้แต่ดาราที่มีชื่อเสียง หรือนักกีฬาระดับประเทศ
โดยการเข้ากรมของประเทศเกาหลี สามารถผ่อนผันได้จนถึงอายุ 30 ปี แต่ก็มีเงื่อนไขคือต้องเป็นบุคคลที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ และได้รับเสนอชื่อโดยกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีใต้เท่านั้น
อีกข้อยกเว้นหนึ่งที่จะทำให้รอดจากการเกณฑ์ทหาร หรือเข้ารับใช้ชาติในกรม ทั้งไทยและเกาหลีก็คือข้อยกเว้นด้านร่างกายหรือสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัว น้ำหนัก ส่วนสูง เป็นต้น แต่นอกเหนือจากนั้นไม่ว่าใครก็ไม่สามารถเลี่ยงได้
เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางที่ผู้ชายไม่สามารถเลี่ยงได้จริง ๆ ดังคำกล่าวที่ว่า “ชายชาติทหาร” ซึ่งถือเป็นเครื่องยืนยันว่าผู้ชายต้องคู่กับทหาร เป็นคำนิยามและค่านิยมที่มีมาอย่างยาวนานแล้ว
D.P. ซีรีส์ที่สะท้อนด้านมืดของวงการทหารเกาหลีใต้
ถ้าพูดถึงวงการทหารเกาหลีใต้ แฟนคลับหลายคนก็คงจะเคยเห็นภาพที่ดาราที่ชอบตอนอยู่ในกรมถูกปล่อยออกมาบ่อยครั้ง ทั้งยังดูเอนจอยและแฮปปี้กับการรับใช้ชาติอีกต่างหาก ทำให้หลายคนเข้าใจกันไปว่ากรมทหารของเกาหลีใต้สบาย และแตกต่างจากประเทศเราที่มีข่าวแง่ลบออกมาค่อนข้างบ่อย
อย่างไรก็ตาม ซีรีส์ D.P. ได้สะท้อนอีกมุมมองหนึ่ง ทำให้เห็นว่าวงการทหารเกาหลีเองก็มีด้านมืด และอาจจะไม่ได้สบายอย่างที่คิด ถ้าหากเราไม่ใช่บุคคลที่มีชื่อเสียง
สำหรับซีรีส์ D.P. เป็นซีรีส์ที่สะท้อนปัญหาที่ถูกซ่อนไว้หลังรั้วค่ายทหาร ทั้งความรุนแรงที่มาในรูปแบบของธรรมเนียมปฏิบัติ อย่างการเคารพรุ่นพี่ การกลั่นแกล้งอย่างรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ การทำร้ายเพื่อความสะใจ และการล่วงละเมิดทางเพศ ที่กลายเป็นเรื่องธรรมดาในกองทัพ
ถ้าใครที่ทนต่อการกระทำไม่ได้ หรือทำร้ายผู้อื่นไม่ลง ก็จะถูกหมายหัวเป็นผู้ที่ปรับตัวไม่ได้ และจะถูกรังแกหนักกว่าเดิม ทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นผู้ล่าเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นเหยื่อ และสืบทอดชุดความคิดอันบิดเบี้ยวต่อไป ซึ่งการเผชิญหน้ากับความรุนแรงเหล่านี้สร้างรอยแผลในใจให้คนมากมาย แต่เรื่องราวทุกอย่างกลับถูกฝังกลบได้โดยง่ายเมื่อพวกเขาปลดประจำการ
“ทำไมต้องทำถึงขนาดนี้ด้วย ตอนที่ผมโดนทำร้ายจนเกือบตายก็ไม่เห็นทำอะไร แต่กลับพยายามช่วยชีวิตสวะแบบนั้น” นี่คือคำกล่าวของโจซอกบง หนึ่งในตัวละครที่น่าสงสารที่สุดจากการถูกทำร้ายภายในค่ายทหาร
สำหรับโจซอกบง เดิมทีเขาเคยเล่นยูโดถึงขึ้นลงแข่งระดับทีมชาติ แต่ตัดสินใจเลิกเพราะรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องทำร้ายคน และได้กลายมาเป็นครูสอนศิลปะที่เด็ก ๆ ต่างรักและชื่นชม หนึ่งในนักเรียนของเขาสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ นั่นก็เพราะเขา และหลังจากปลดประจำการทหารแล้ว เขามีความฝันคือการวาดการ์ตูน และสอนเด็ก ๆ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือชีวิตในค่ายทหารของโจซอกบง เขาถูกทหารรุ่นพี่ทรมานสารพัด ต่อหน้าเพื่อนทหารด้วยกัน แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปห้ามหรือช่วย จนสุดท้ายเขาตัดสินใจหนีออกจากค่ายเพื่อไปแก้แค้นรุ่นพี่ทหารที่เคยทำร้ายเขา แต่ปลดการไปแล้ว แม้รู้ว่าการหนีจากค่ายเป็นเรื่องผิดกฎหมายและการโดนจับ แต่ก็ตัดสินใจที่แน่วแน่ และสุดท้ายเขาก็จบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย
อย่างไรก็ตาม ถึงจะเกิดเหตุน่าสะเทือนขวัญแต่สุดท้ายเมื่อข่าวซา ทุกอย่างก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม ผู้ที่ขัดคำสั่งของผู้ใหญ่ถูกลงโทษ และทุกคนในค่ายทหารก็ยังใช้ชีวิตไปตามครรลองเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่องเท่านั้นที่แสดงให้เห็นว่าทหารชั้นผู้น้อยหลายคนหนีหรือระเบิดความรุนแรงออกมาด้วยความสิ้นหวังในระบบและต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเอง
ไม่เพียงแต่ในวงการทหารเกาหลีใต้ เพราะทหารไทยเองก็มีข่าวทำนองเดียวกันออกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นข่าวการถูกทำร้ายร่างกาย จนถึงเสียชีวิต ข่าวแง่ลบที่ปรากฏออกมาเหล่านี้ พาลทำให้ผู้คนต่างก็กลัวและไม่ต้องการเข้าเป็นทหาร ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง เหตุการณ์เลวร้ายเหล่านี้ก็จะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
ด้านมืดของวงการทหารไทย
สำหรับทหารไทย คำนิยามที่มักจะได้ยินอยู่บ่อย ๆ คือ “รบกับหญ้า ฆ่ากับมด” นั่นเพราะเป็นที่รู้กันดีว่าทหารเกณฑ์ที่เข้าไปส่วนใหญ่ นอกจากการฝึกแล้ว กิจกรรมยามว่างก็คือการบริการให้กับนายทหารยศใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นการตัดหญ้า ซักผ้า หรือแม้กระทั่งการล้างรถ
และหนังหรือซีรีส์ไทยก็มักจะตีแผ่วงการทหารออกมาในแนวตลก ทำให้ภาพจำของหลายคนมองว่าวงการทหารไทยสนุกสนาน เฮฮา ไม่เครียด อย่างไรก็ตาม จากข่าวหรือเรื่องเล่าที่ออกจากปากผู้ที่ได้เข้าไปคลุกคลีจริง ๆ กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร สวัสดิการ ตลอดจนการใช้ชีวิต ทุกอย่างเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยผู้ที่เข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ได้ออกมาเผยว่า “เป็น 1 ปีที่ตกต่ำที่สุดในชีวิต พลาดโอกาสดี ๆ ที่เข้ามา ต้องเจอกับเรื่องที่แย่และบั่นทอนจิตใจมากมาย การฝึกเหนื่อยและทรมาน เต็มไปด้วยการฝึกที่ไร้เหตุผลและไม่จำเป็น”
เรื่องสวัสดิการก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะในช่วงอายุ 21 ปี หลายคนกำลังเรียนจบและออกมาสร้างเนื้อสร้างตัว หลายคนได้งานที่ดี และกำลังจะเริ่มต้นใช้ชีวิต แต่ถ้าโชคร้ายก็ต้องเข้าเป็นทหาร ทำให้ต้องทิ้งงาน และเสียโอกาสไป อีกทั้งในการเป็นทหาร เงินที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต จึงเป็นเหตุให้หลายคนไม่ต้องการจะเข้าไป
แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการทำร้ายร่างกาย เพราะภายในค่ายมีเพียงทหารด้วยกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นคนภายนอกก็ไม่สามารถรับรู้หรือเข้าไปช่วยเหลือได้ ยกตัวอย่างในกรณีที่ทหารคนหนึ่งปฏิเสธคำสั่งรุ่นพี่เพราะทำอีกหน้าที่หนึ่งอยู่ ก็ถูกทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บ ซึ่งเป็นการทำร้ายร่างกายอย่างไร้เหตุผล
บางคนบาดเจ็บไม่หนักก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่บางคนก็โชคร้าย ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส และไม่ได้รับการรักษา จนบางครั้งร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งเราก็จะเห็นข่าวทหารเกณฑ์เสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง นั่นจึงเป็นสาเหตุให้มีการเรียกร้องการยกเลิกเกณฑ์ทหาร และเข้ารับใช้ชาติด้วยความสมัครใจ
เพราะในปัจจุบันก็มีหลายประเทศที่ไม่มีการเกณฑ์ทหาร แต่เปิดรับสมัครผู้ที่เต็มใจจะทำหน้าที่เข้าไป โดยมีสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เงินเดือน ตลอดจนการใช้ชีวิตอย่างดี ทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพมากกว่าการที่บังคับให้คนเข้าไปโดยไม่เต็มใจ
สรุปส่งท้าย
ในความเป็นจริง แม้ว่าจะยกเลิกเกณฑ์ทหาร แต่ตราบใดที่วัฒนธรรมภายในกองทัพยังไม่เปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างก็จะยังเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้เหมารวมถึงทหารไทยทั้งหมด เพราะในบางค่าย ทหารก็ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง ทำให้หลายคนได้รับประสบการณ์ที่ดีในการรับใช้ชาติก็มี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้านมืดของกองทัพนั้นมีอยู่จริง
สุดท้ายนี้ เราก็อยากจะฝากซีรีส์เรื่อง D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพเอาไว้ด้วย บอกเลยว่าจะได้เห็นด้านมืด และความโหดร้ายอีกหลาย ๆ อย่าง และจะทำให้เข้าใจวงการทหารมากขึ้นอย่างแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews