เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ยืมรถคนในครอบครัว หรือรถของเพื่อนไปขับ คงจะดูแลและขับขี่เป็นอย่างดี แต่ไม่ว่าจะระมัดระวังแค่ไหน อุบัติเหตุก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกเมื่อเกิดอุบัติเหตุก็คือ การแจ้งเคลมประกัน แต่สิ่งที่หลายคนยังคาใจอยู่ก็คือ แล้วถ้าเราไม่ใช่เจ้าของรถจะสามารถแจ้งเคลมประกันได้ไหม? ในบทความนี้เราจะพาคุณมาไขข้อข้องใจนี้ให้กระจ่างกัน
ขับรถชนคนบาดเจ็บแต่ไม่ใช่เจ้าของรถ แจ้งเคลมประกันได้มั้ย
สำหรับผู้ที่ขับรถชนคนบาดเจ็บแต่ไม่ใช่เจ้าของรถ สามารถแจ้งเคลมประกันได้ตามปกติ แต่จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมมาด้วย ดังนี้
กรณีที่รถยนต์คันนั้นทำประกันรถยนต์แบบไม่ระบุผู้ขับขี่
ในกรณีนี้สามารถใช้สิทธิ์เคลมประกันได้ทันที โดยความคุ้มครองก็จะเป็นไปตามประเภทของประกันรถที่ซื้อเอาไว้ เช่น ประกันรถยนต์ชั้น 1 ก็จะได้รับความคุ้มครองทั้งคู่กรณีและผู้เอาประกัน หรือประกันรถยนต์ชั้น 3+ จะให้ความคุ้มครองเฉพาะรถยนต์ของคุณกรณีเท่านั้น เป็นต้น
กรณีที่รถยนต์คันนั้นทำประกันรถยนต์แบบระบุผู้ขับขี่
กรณีนี้สามารถใช้สิทธิ์เคลมประกันรถยนต์ได้เช่นกัน แต่ผู้ขับขี่จะต้องจ่ายค่าผิดเงื่อนไขเป็นค่าส่วนแรกให้กับบริษัทประกันด้วย โดยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้คู่กรณีส่วนแรก 2,000 บาท และค่าซ่อมรถตัวเองส่วนแรก 6,000 บาท
ไม่ใช่เจ้าของรถ และไม่มีใบขับขี่แจ้งเคลมประกันได้มั้ย
หากผู้ขับขี่ไม่ใช่เจ้าของรถ และไม่มีใบขับขี่ทั้งจากกรณีที่ถูกเพิกถอนใบขับขี่ หรือไม่เคยสอบใบขับขี่ บริษัทประกันมีสิทธิ์ที่จะไม่ให้ความคุ้มครองใด ๆ เพราะถือว่าทำผิดเงื่อนไขของกรมธรรม์ ทั้งนี้ ในส่วนความเสียหายของบุคคลภายนอก ประกันรถยนต์จะทำการสำรองจ่ายให้ก่อน จากนั้นจึงมาเรียกเก็บในภายหลัง ซึ่งในส่วนนี้ ตัวผู้ขับขี่และเจ้าของรถจะต้องตกลงกันเอง
ไม่ใช่เจ้าของรถทำประกันแทนกันได้มั้ย
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากทำประกันรถยนต์ให้บุตรหลายของตัวเอง แม้ว่าตัวเองจะไม่ใช้เจ้าของรถ ก็สามารถทำประกันรถยนต์ให้กันได้ โดยจะเป็นการรับมอบอำนาจดำเนินเอกสารแทน ซึ่งผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จะต้องเป็นเจ้าของรถหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ไม่ใช่เจ้าของรถเบิก พ.ร.บ. ได้มั้ย
เป็นที่รู้กันว่า รถยนต์ทุกคันจำเป็นจะต้องมีประกันรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. รถยนต์กันอยู่แล้ว เพื่อคุ้มครองเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชน ซึ่งผู้ขับขี่สามารถเบิก พ.ร.บ. รถยนต์ได้แม้จะไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ก็ตาม เนื่องจาก พ.ร.บ. รถยนต์มีไว้เพื่อคุ้มครองผู้ประสบภัยบนท้องถนนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสารในรถ บุคคลภายนอกที่เป็นคู่กรณี หรือคนเดินถนน ทั้งนี้การคุ้มครองของ พ.ร.บ. รถยนต์จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่เป็นฝ่ายผิด
สำหรับกรณีที่ผู้ขับขี่เป็นฝ่ายผิด จะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากการบาดเจ็บ (จ่ายตามจริง) ได้สูงสุด 30,000 บาท และหากเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร จะสามารถเบิกได้สูงสุด 35,000 บาท
กรณีที่เป็นฝ่ายถูก
หากผู้ขับขี่เป็นฝ่ายถูก จะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ หรือค่าเสียหายอื่น ๆ ได้สูงสุด 80,000 บาท หากเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร สามารถเบิกได้สูงสุด 500,000 บาท นอกจากนี้ยังได้เงินชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน (ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยใน หรือ IPD)
และทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลที่เรารวบรวมมาไขข้อข้องใจให้กับผู้ขับขี่ที่ต้องยืมรถคนอื่นไปใช้งาน ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นก็คงจะเห็นได้ว่า การพกใบขับขี่ การทำประกันรถยนต์ และการต่อ พ.ร.บ. ให้ถูกต้อง จะเป็นตัวช่วยให้กับผู้ขับขี่เมื่อเกิดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี ดังนั้นก่อนจะยืมรถคนอื่นไปขับขี่ทุกครั้ง ก็ควรจะสอบถามกับเจ้าของรถว่ามีประกันรถยนต์ และ พ.ร.บ. รถยนต์หรือไม่ รวมถึงพกใบขับขี่ติดตัวไปด้วยทุกครั้ง