หาคำตอบ ติดเครดิตบูโรกี่ปีถึงจะหลุด ติดแบล็กลิสต์มีจริงไหม

หากคุณเคยประสบปัญหาการขอสินเชื่อไม่ผ่าน หรือกำลังกังวลเรื่องประวัติการเงินของตัวเอง คำว่า “ติดเครดิตบูโร” คงเป็นคำที่คุณได้ยินบ่อย ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าคำนี้มีความหมายอย่างไรกันแน่ และหากเกิดปัญหาขึ้นจริง จะต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าประวัติเครดิตบูโรจะหายไป บทความนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจเรื่องเครดิตบูโรให้ชัดเจน พร้อมแนะนำวิธีจัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับเครดิตของคุณในอนาคต
เครดิตบูโรคืออะไร
เครดิตบูโร (Credit Bureau) หรือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau) เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวม และจัดเก็บข้อมูลบัญชีสินเชื่อ และประวัติการชำระหนี้ทุกประเภทของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งมาจากสถาบันการเงิน และบริษัทที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร
คุณสามารถตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของตัวเองได้ผ่านหลายช่องทาง ทั้งโมบายแอปพลิเคชัน ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร เคาน์เตอร์ธนาคาร ธนาคารออนไลน์ ตู้ ATM หรือที่ทำการไปรษณีย์ที่ให้บริการ และควรตรวจสอบทุกปีเหมือนการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน
ติดเครดิตบูโรทำให้ติดแบล็กลิสต์ (Blacklist) ตามไปด้วย จริงหรือไม่
หลายคนเข้าใจผิดว่า “ติดเครดิตบูโร” กับ “ติดแบล็กลิสต์” เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ความจริงแล้ว แบล็กลิสต์ (Blacklist) เป็นเพียงคำพูดติดปากที่คนทั่วไปใช้เรียกแทนพฤติกรรมการชำระเงินที่ไม่มีวินัยจนเป็นหนี้เสีย เครดิตบูโรไม่ได้มีหน้าที่ขึ้นบัญชีดำ หรือ Blacklist อย่างที่หลายคนเข้าใจ
สถาบันเพียงแค่รวบรวม และประมวลผลข้อมูลสินเชื่อตามที่สถาบันการเงิน หรือสมาชิกส่งมาเท่านั้น ผลของการมีประวัติที่ไม่ดีจะสะท้อนเมื่อคุณไปขอสินเชื่อแล้วไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาจะแตกต่างกันไปตามนโยบายของแต่ละสถาบันการเงิน
ติดเครดิตบูโรกี่ปีถึงจะหลุด
โดยทั่วไป เครดิตบูโรจะแสดงประวัติสินเชื่อย้อนหลัง 3 ปี ถ้าคุณปิดหนี้ทั้งหมด และไม่ได้ใช้เครดิตอีกต่อไป รายงานประวัติสินเชื่อจะค่อย ๆ ถอยออกไปทีละเดือนจนครบ 36 เดือน หรือ 3 ปี จากนั้นจะไม่ปรากฏในรายงานอีกต่อไป
ส่วนกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้และค้างชำระเกิน 90 วัน สถาบันการเงินจะส่งข้อมูลสินเชื่อคงค้างให้บริษัทข้อมูลเครดิตต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี นับจากวันที่ค้างชำระเกิน 90 วัน และเมื่อครบ 5 ปีแล้ว ประวัติจะค่อย ๆ ถอยออกไปอีก 3 ปีจึงจะหายไปจากรายงานทั้งหมด
5 วิธีจัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันติดเครดิตบูโร

การจัดการหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับเครดิตบูโรในอนาคต เรามีเคล็ดลับดี ๆ มาแนะนำ เพื่อให้คุณสามารถบริหารหนี้ได้อย่างมั่นใจ และไม่ส่งผลกระทบต่อประวัติทางการเงิน มาดูกันว่ามีวิธีไหนบ้าง
1. เริ่มต้นจากสรุปภาพรวมหนี้ทั้งหมด
จัดระเบียบหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด โดยระบุว่าเป็นหนี้กับสถาบันการเงินใด จำนวนเท่าไร มีรายละเอียดดอกเบี้ยและภาระที่ต้องชำระต่องวดเท่าไร การทำความเข้าใจภาพรวมหนี้ทั้งหมด จะช่วยให้คุณสามารถวางแผนการจัดการได้อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. วางแผนการชำระหนี้อย่างเป็นระบบ
คำนวณว่าหนี้ก้อนไหนที่สามารถจัดการให้หมดได้ไวที่สุด โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงหรือมีการคิดดอกเบี้ยทบต้นทบดอก ควรจัดลำดับความสำคัญให้ชำระหนี้เหล่านี้ก่อน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและปลดหนี้ก้อนเล็ก ๆ ให้หมดไปก่อน จะช่วยให้มีกำลังใจในการจัดการหนี้ก้อนใหญ่ต่อไป
3. ชำระหนี้ให้ตรงเวลาทุกงวด

การมีวินัยในการชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะมีผลโดยตรงต่อประวัติเครดิตบูโรและการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อในอนาคต แม้จะเป็นเพียงการจ่ายขั้นต่ำก็ยังดีกว่าการผิดนัดชำระ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประวัติทางการเงินในระยะยาว
4. นำเงินก้อนมาปิดชำระหนี้
หากมีเงินพิเศษเข้ามา เช่น โบนัส ค่าคอมมิชชั่น หรือเงินพิเศษอื่น ๆ หลังจากแบ่งส่วนหนึ่งไว้เก็บออมแล้ว ควรนำส่วนที่เหลือมาโปะหนี้ที่มีอยู่ การลดเงินต้นจะช่วยให้ดอกเบี้ยลดลง และปลดภาระหนี้ได้เร็วขึ้น เมื่อหนี้ลดลง ความเครียด และภาระทางการเงินก็จะลดลงตามไปด้วย
5. พิจารณาการรีไฟแนนซ์ หรือโอนยอดหนี้
ถ้ามีภาระหนี้หลายก้อน หรือดอกเบี้ยสูง การรีไฟแนนซ์ หรือใช้บริการโอนยอดหนี้อาจเป็นทางเลือกที่ดี จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ประหยัดดอกเบี้ย และเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้ดีขึ้น ทำให้การบริหารจัดการหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีโอกาสปลดหนี้ได้เร็วกว่าเดิม
สรุปบทความ
เครดิตบูโรเป็นสถาบันที่รวบรวมข้อมูลการใช้สินเชื่อและประวัติการชำระหนี้ของเรา ซึ่งหากมีประวัติไม่ดี เช่น ค้างชำระเกิน 90 วัน ข้อมูลนี้จะถูกเก็บไว้นานถึง 5 ปี และหลังจากนั้นจึงจะค่อย ๆ ถอยออกไปอีก 3 ปี รวมเป็น 8 ปีกว่าประวัติจะหายไปทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การมีประวัติที่ไม่ดีในเครดิตบูโรไม่ได้หมายความว่าคุณจะถูก “แบล็กลิสต์” ตลอดไป การจัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การชำระหนี้ตรงเวลา การวางแผนการชำระอย่างเป็นระบบ และการใช้เงินก้อนโปะหนี้ จะช่วยให้คุณสามารถฟื้นฟูประวัติทางการเงินและกลับมามีเครดิตที่ดีได้อีกครั้ง จำไว้ว่าการมีวินัยทางการเงินเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับเครดิตบูโรในอนาคต