ขอสินเชื่อออนไลน์ปลอดภัย รู้ทันภัย Cyber Attack

เดี๋ยวนี้ไม่จะทำอะไรก็ต้องทำผ่านอินเทอร์เน็ตตลอด เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Digital อย่างเต็มรูปแบบ เพราะเหตุนี้จึงทำให้การสื่อสารสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็คือปัญหาการคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Attack) มีมิจฉาชีพหลายคนที่พยายามแฮกเข้าระบบเครือข่ายและขโมยข้อมูลส่วนบุคคลไป ยิ่งเวลาต้องทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินหรือแม้แต่ขอสินเชื่อออนไลน์ หากไม่ระวังก็อาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ โดยมันจะใช้ข้อมูลของคุณในการแอบอ้างยื่นกู้หรือหลอกให้โอนเงิน ดังนั้น ก่อนทำธุรกรรมทางการเงิน อย่าลืมตรวจสอบความปลอดภัยและป้องกันตัวเองจากภัยไซเบอร์ให้ดี!
Cyber Attack คืออะไร มีอะไรบ้าง
Cyber Attack เป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้การโจมตีทางไซเบอร์สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
-
Malware (มัลแวร์)
หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “ไวรัสคอมพิวเตอร์” เป็นซอฟต์แวร์อันตรายที่มักมากับไฟล์ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ อีเมล หรืออุปกรณ์ภายนอก เช่น แฟลชไดรฟ์ เมื่อผู้ใช้คลิกหรือดาวน์โหลดไฟล์ มัลแวร์จะเข้าสู่ระบบและทำงานโดยอาจสร้างความเสียหาย เช่น ถูกทำลายข้อมูล โดนขโมยข้อมูลส่วนตัวหรือเข้าควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ได้
-
Ransomware (แรนซัมแวร์)
คือภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Attack) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อจำกัดการเข้าถึงระบบของเหยื่อ จากนั้นจะเรียกร้องค่าเงินไถ่ (Random) เพื่อแลกกับการปลดล็อกข้อมูล หากไม่จ่ายเงินตามที่เรียกมา ข้อมูลสำคัญในมือของมิจฉาชีพหรือแฮกเกอร์ก็อาจจะถูกนำไปขายต่อในตลาดมืดได้
-
Spam (สแปม)
คือการส่งข้อมูลจำนวนมากผ่านอีเมล ข้อความ หรือโซเชียลมีเดีย โดยมีเป้าหมายเพื่อโฆษณา หรือในบางกรณีอาจเป็นการโจมตีที่แฝงไปด้วยมัลแวร์หรือฟิชชิง ลิงก์ที่แนบมากับสแปมอาจนำผู้ใช้ไปยังเว็บไซต์อันตรายหรือดาวน์โหลดไฟล์ที่เป็นอันตรายลงบนอุปกรณ์ของผู้ใช้ หากคุณเผลอคลิกหรือดาวน์โหลดลิงก์ที่แนบมากับสแปม อาจทำให้ถูกโจรกรรมข้อมูลทางการเงินได้ง่าย ๆ
-
Phishing (ฟิชชิง)
เป็นการโจมตีที่มิจฉาชีพใช้เทคนิคหลอกลวงผ่านอีเมล ข้อความหรือเว็บไซต์ปลอม โดยแอบอ้างเป็นองค์กรหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือเพื่อขโมยข้อมูลสำคัญ เช่น รหัสผ่าน ข้อมูลบัตรเครดิต หรือข้อมูลบัญชีธนาคาร ผู้ใช้อาจได้รับอีเมลที่ดูเหมือนมาจากธนาคารหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้งานอยู่ และถูกหลอกให้ป้อนข้อมูลส่วนตัวลงในเว็บไซต์ปลอม ดังนั้น หากไม่ทันตั้งตัวและเผลอให้ข้อมูลไปก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายทางการเงินได้
-
DDOS (Distributed Denial of Service)
คือการโจมตีทางไซเบอร์ที่มุ่งทำให้เซิร์ฟเวอร์ หรือเว็บไซต์ไม่สามารถใช้งานได้ โดยการส่งคำขอจำนวนมหาศาลจากหลายอุปกรณ์ (Botnet) จนทำให้เว็บไซต์ล่ม และใช้งานไม่ได้ พอเว็บไซต์ล่มใช้งานไม่ได้ก็ส่งผลให้สูญเสียรายได้ ขาดความน่าเชื่อถือ กว่าเซิร์ฟเวอร์จะกลับมาเป็นปกติก็ใช้ระยะเวลาหลายวันเลยทีเดียว
5 วิธีป้องกันการเกิด Cyber Attack สามารถทำได้อย่างไรบ้าง
ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว สามารถปฏิบัติตัวได้ ดังนี้
ไม่หลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริง
การโฆษณาที่ดูดีเกินจริงมักเป็นกับดักที่น่ากลัว โดยเฉพาะในช่วงที่จำเป็นต้องใช้เงินด่วนและมองหาช่องทางในการขอสินเชื่อออนไลน์ แนะนำให้ระวังการโฆษณาถึงเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อที่เกินความเป็นจริง เช่น อนุมัติไว ภายใน 10 นาที เงินเข้าบัญชีทันที หรือดอกเบี้ยที่ต่ำผิดปกติ เพราะนี่อาจเป็นเทคนิคของมิจฉาชีพที่มาหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวหรือหลอกให้คุณโอนเงินให้ก่อน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อออนไลน์ แนะนำให้ตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือก่อน โดยสามารถรายชื่อสถาบันการเงินและธนาคารผู้ให้สินเชื่อได้ผ่านเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่หน้าเมนู ‘เช็กแอปเงินกู้’
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่กำลังมองหาสินเชื่อออนไลน์ที่ถูกกฎหมาย ปลอดภัยและเชื่อถือได้ ทีทีบีมีบริการ สินเชื่อส่วนบุคคล แคชทูโก ผ่านแอป ttb touch ซึ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยให้คุณมั่นใจได้ว่ามีความโปร่งใส อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ดอกเบี้ย 18 – 25% ต่อปี ช่วยให้คุณได้รับเงินก้อนมาใช้จ่ายตามความจำเป็นอย่างปลอดภัย พร้อมเงื่อนไขที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องกลโกงจากมิจฉาชีพ
ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวโดยไม่จำเป็น
ข้อมูลส่วนตัวถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะปัจจุบันที่สามารถทำธุรกรรมได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น เลขบัตรประชาชน ข้อมูลบัญชีธนาคารหรือวันเกิด ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรแชร์โดยไม่จำเป็น เนื่องจากมิจฉาชีพมักจะใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อหลอกล่อให้คุณเปิดเผยข้อมูล เช่น ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือหน่วยงานรัฐ พึงระลึกไว้เสมอว่าหน่วยงานที่น่าเชื่อถือจะไม่ขอข้อมูลส่วนตัวผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการและไม่ควรแชร์รหัส OTP กับผู้อื่นไม่ว่าในกรณีใด ๆ เพราะอาจนำไปสู่การโจรกรรมข้อมูลและความเสียหายทางการเงินได้
ทั้งนี้ หากต้องการตรวจสอบว่า ใช่เจ้าที่พนักงานจริง ๆ ไหม สามารถโทรกลับเข้าไปที่เบอร์ Call Center ของธนาคารต้นทาง เพื่อทำการเช็กรหัสพนักงาน รวมถึงข้อมูลโปรโมชันต่าง ๆ เพื่อให้คุณได้มั่นใจว่า ไม่ใช่มิจฉาชีพที่โทรมาหลอกเอาข้อมูลจากเรา
ไม่ควรตั้ง Password ในการทำธุรกรรมที่ง่ายเกินไป
หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลที่คาดเดาได้ง่ายมาตั้งเป็นรหัสผ่าน เช่น วันเกิด หมายเลขโทรศัพท์หรือชื่อสัตว์เลี้ยง ควรตั้งรหัสผ่านที่คาดเดายากและไม่ควรใช้รหัสผ่านเดียวกันทุกบัญชี โดยเฉพาะบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เพื่อป้องกันการถูกแฮ็กข้อมูล นอกจากนี้ยังแนะนำให้เปิดใช้การยืนยันตัวตนสองชั้น (Two-factor Authentication) เพื่อความปลอดภัยในการเข้าถึงบัญชีและป้องกันการเกิด Cyber Attack ได้อีกเช่นกัน
ไม่หลงคลิกลิงก์ที่น่าสงสัย
ไม่แนะนำให้คลิกลิงก์ที่ได้รับทางอีเมลหรือข้อความ SMS หรือช่องทางใดก็ตามแต่ เพราะอาจเป็นการฟิชชิง (Phishing) ที่มิจฉาชีพพยายามขโมยข้อมูลส่วนตัวของคุณได้ หลังจากที่ได้รับลิงก์แนะนำให้ตรวจสอบ URL โดยการวางเมาส์เหนือลิงก์ (hover) เพื่อดูที่อยู่จริง หากต้องการทำธุรกรรมหรือเข้าสู่ระบบ ควรพิมพ์ URL โดยตรงในเบราว์เซอร์แทนการคลิกจากลิงก์ และเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของข้อมูลส่วนบุคคลและเพิ่มความมั่นใจในการสมัครสินเชื่อออนไลน์ ถูกกฎหมาย ทีทีบีมีช่องทางการสมัครเพียงแค่ 3 ช่องทางหลักเท่านั้น ได้แก่ เว็บไซต์ ttb แอป touch และที่หน้าสาขาทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ทีทีบีไม่มีนโยบายส่งลิงก์ เพื่อให้คุณเข้าสู่ระบบหรือกรอกข้อมูลส่วนตัวผ่านทางอีเมลหรือข้อความ SMS หากได้รับข้อความที่น่าสงสัย โปรดแจ้ง ttb contact center โทร. 1428 ได้ทันที ตลอด 24 ชม. เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลทางการเงินของคุณ
ไม่ใช้ WiFi สาธารณะ
การเชื่อมต่อ WiFi สาธารณะที่ไม่มีการป้องกัน อาจทำให้ข้อมูลของคุณถูกแฮ็กได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อคุณทำธุรกรรมทางการเงินหรือกรอกข้อมูลส่วนตัว ด้วยวิธี “Man-in-the-Middle” เป็นการโจมตีผ่านทางช่องทางออนไลน์ ซึ่งมิจฉาชีพอาจแทรกแซงการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ของคุณกับเซิร์ฟเวอร์ปลายทางได้ โดยวิธีที่มิจฉาชีพมักทำ คือจะดักฟักการสื่อสารระหว่างผู้ส่งสารต้นสายและปลายสาย และจะสามารถเข้าถึงข้อความ ข้อมูลต่าง ๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลบัตรประชาชน รหัสการ Log-in หรือเลขบัตรเครดิต เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากคุณจำเป็นต้องทำธุรกรรมจริง ๆ แนะนำให้เปิดใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายมือถือ (Mobile Data) ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่าสำหรับการทำธุรกรรมสำคัญ และควรตั้งค่าไม่ให้อุปกรณ์เชื่อมต่อ WiFi โดยอัตโนมัติเพื่อป้องกันการเชื่อมต่อกับเครือข่ายที่ไม่ปลอดภัย
สรุปบทความ
Cyber Attack หรือการโจมตีทางไซเบอร์เป็นภัยคุกคามที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยมิจฉาชีพใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น มัลแวร์ ฟิชชิงและสแปม เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวหรือเงินจากผู้ใช้งานออนไลน์ อย่างไรก็ตาม การป้องกันภัยไซเบอร์ไม่ยากเกินไป เพียงแค่เราตระหนักถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว เช่น ไม่หลงเชื่อโฆษณาเกินจริง ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวโดยไม่จำเป็น ตั้งรหัสผ่านที่ปลอดภัย ไม่คลิกลิงก์ที่น่าสงสัยและไม่ใช้งาน WiFi สาธารณะในขณะทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้เราปลอดภัยจากการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ และหากต้องการเงินด่วน ก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อออนไลน์ ควรตรวจสอบรายชื่อธนาคารและสถาบันการเงินนั้น ๆ ว่าอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารของประเทศไทยหรือไม่ เพื่อจะได้ไม่ถูก Cyber Attack และไม่โดยมิจฉาชีพหลอกเอาได้