เป็นเรื่องปกติที่ผู้ปฏิบัติแต่ละคนย่อมมีความสามารถทางจิตในการปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อให้เข้าถึงสัจธรรมความจริงและบังเกิดปัญญาแห่งการหลุดพ้นที่แตกต่างกันออกไป อย่างบางคนหากเป็นผู้มีบุญเก่าสะสมติดตัวมาตั้งแต่ในอดีตชาติ พอในชาตินี้ได้มาพบเจอครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนให้แนวทางในการปฏิบัติ จึงไม่เป็นการยากที่จะทำสมาธิและเกิดความก้าวหน้าทางจิตได้อย่างรวดเร็ว
แต่หากเป็นกรณีของผู้ปฏิบัติบางคนที่นอกจากจะไม่มีของเก่าเป็นทุนเดิมติดตัวมาแล้ว มิหนำซ้ำในชาติปัจจุบันก็ยังมีแต่ความเคลือบแคลงสงสัยในธรรมนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบาปบุญคุณโทษ เรื่องกรรมดีกรรมชั่ว หรือแม้กระทั่งเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เขาผู้นั้นย่อมขาดศรัทธาที่มั่นคงในการปฏิบัติธรรมและมีอาการหวั่นไหวต่อบรรดาสมมติกิเลสบนโลกเป็นแน่ ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังได้ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ผู้เป็นสัตว์ประเสริฐ ซึ่งมีจิตวิญญาณที่สามารถจะฝึกอบรมจิตจนกระทั่งสำเร็จมรรคผลและพระนิพพานได้ ขอเพียงแค่พวกเขาบังเกิดศรัทธาที่มั่นคงต่อการปฏิบัติธรรม
ครูบาอาจารย์ผู้มีพลังอำนาจจิตด้วยการเพ่งกสิณตระหนักดีในข้อนี้ ท่านจึงมักใช้พลังอำนาจจิตของตนแสดงสิ่งอันเป็นปาฏิหาริย์ในสถานการณ์ที่เหมาะสมและเป็นการสมควรที่จะแสดงฤทธิ์นั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการทำลายความเคลือบแคลงสงสัยภายในจิตใจของบรรดาศิษย์ อีกทั้งพลังกสิณยังสามารถสร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้บังเกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้ปฏิบัติได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงพลังอำนาจของกสิณอันเป็นโลกียะอภิญญาด้วยการแสดงยมกปาฏิหาริย์เพื่อปราบพวกเดียรถีย์และบรรดาหมู่มาร โดยพระองค์ทรงใช้ทั้งพลังจากกสิณน้ำและพลังจากกสิณไฟสลับไปมาในขณะเดียวกัน (การแสดงพลังกสิณทั้งสองควบคู่กันนั้นทำให้เกิดความเป็นกลาง) อีกทั้งในการแสดงปาฏิหาริย์ยังสามารถทำลายความเคลือบแคลงสงสัยให้บังเกิดแก่มนุษย์ผู้ที่ได้สัมผัสพบเห็น กระตุ้นให้เกิดพลังแห่งความเลื่อมใสศรัทธาในธรรมจนสามารถก้าวพ้นอุปสรรคเบื้องต้นของการปฏิบัติธรรมไปได้
แต่การที่จะแสดงพลังอำนาจของกสิณนั้นจะต้องเป็นไปด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริง คือเพื่อเป็นการทำลายความเคลือบแคลงสงสัยในธรรมและช่วยสร้างให้เกิดแรงบันดาลใจเลื่อมใสศรัทธาต่อการปฏิบัติธรรมตามแนวทางแห่งการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร
ข้อสำคัญในการใช้พลังกสิณคือห้ามใช้การแสดงพลังอำนาจของกสิณเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงพลังกสิณเพื่อให้ผู้คนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตนเองและเห็นว่าตนนั้นเป็นผู้วิเศษ หรือการใช้พลังจิตไปเพื่อแสวงหาลาภสักการะ ด้วยเพราะการแสดงฤทธิ์เช่นนี้เท่ากับเป็นการหยิบยื่นความหลงความงมงายให้กับผู้คน มิใช่เป็นการแสดงฤทธิ์ที่ถูกต้องตามแนวทางแห่งการปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้น