เจ็บหน้าอก เป็นอาการที่หลายคนเคยพบเจอ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากการออกกำลังกายหนัก อาหารไม่ย่อย หรือแม้กระทั่งความเครียด แต่รู้หรือไม่ว่าอาการเจ็บหน้าอกบางประเภทอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ ซึ่งเป็นโรคอันตรายที่ต้องรีบรับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ทำไมเจ็บหน้าอกถึงเป็นสัญญาณเตือนโรคหัวใจ ?
หัวใจของเราทำงานหนักตลอดเวลา เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบตันหรืออุดตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ กล้ามเนื้อหัวใจจึงขาดออกซิเจนและเกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้นมา
เจ็บแบบไหนน่าเป็นห่วง ?
อาการเจ็บหน้าอก อาจจะไม่อันตรายเสมอไป แต่หากว่ามีอาการดังต่อไปนี้ แนะนำให้พบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
-
เจ็บแน่นหน้าอก รู้สึกเหมือนมีอะไรมาทับหรือบีบรัดบริเวณกลางหน้าอก อาจร้าวไปที่คอ ขากรรไกร หรือหลัง
-
เจ็บเหมือนถูกบีบ รู้สึกเหมือนมีมือมาบีบรัดหน้าอก
-
เจ็บแปลบๆ เจ็บแบบจุก ๆ หรือปวดตุบ ๆ
-
เจ็บร้าว อาการเจ็บร้าวไปยังแขนซ้าย ไหล่ คอ หรือหลัง
-
เหนื่อย หายใจลำบาก ร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก
-
คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก ร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก
อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเมื่อ ออกกำลังกาย หลังจากรับประทานอาหารหนัก ตื่นเต้นหรือเครียด อากาศหนาวเย็น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ
สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ ควรตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติจะได้รักษาอย่างทันท่วงที
-
อายุ อายุที่มากขึ้นมีความเสี่ยงสูงขึ้น
-
เพศชาย มีความเสี่ยงสูงกว่าเพศหญิง
-
สูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่ทำลายหลอดเลือด
-
ความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว
-
ระดับคอเลสเตอรอลสูง ทำให้เกิดไขมันไปอุดตันในหลอดเลือด
-
เบาหวาน ทำให้หลอดเลือดเสื่อม
-
โรคอ้วน ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
-
ขาดการออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ
-
ประวัติครอบครัว มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
เมื่อเจ็บหน้าอกควรทำอย่างไร?
อย่าเพิ่งตกใจ ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
-
พักผ่อน หยุดกิจกรรมที่กำลังทำทันที เพื่อให้ร่างกายให้พักอย่างเต็มที่ แล้วรอดูอาการ
-
รับประทานยา หากมีโรคประจำตัวและแพทย์สั่งยาให้รับประทาน
-
สังเกตอาการ หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 5-10 นาที หรือมีอาการรุนแรงขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์
-
โทรเรียกรถพยาบาล หากมีอาการรุนแรง หายใจลำบาก หรือหมดสติ
การป้องกันโรคหัวใจ
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจให้ปรับพฤติกรรมดังต่อไปนี้
-
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลิกสูบบุหรี่ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
-
ควบคุมน้ำหนัก รักษาค่าดัชนีมวลกายให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
-
ตรวจสุขภาพ ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจหาปัจจัยเสี่ยง
อาการเจ็บหน้าอกไม่ใช่สัญญาณเตือนโรคหัวใจเสมอไป อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ กระดูกซี่โครงอักเสบ หรือกรดไหลย้อน ดังนั้นเมื่อมีอาการ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง