วันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า (26 มิถุนายน พ.ศ. 2329) กวีเอกสี่แผ่นดินของประเทศไทยได้ลืมตาขึ้นมาดูโลก
“สุนทรภู่” เป็นชื่อที่คนทั่วไปมักรู้จักคุ้นหู โดยนำคำว่า “สุนทร” จากบรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานในรัชกาลที่ 2 และ 4 คือ “ขุนสุนทรโวหาร”, “หลวงสุนทรโวหาร” และ “พระสุนทรโวหาร” มารวมกับนามเดิม “ภู่”
แต่เยาว์วัย สุนทรภู่ มีนิสัยรักการแต่งกลอนตั้งแต่เด็ก กระทั่งได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ยังมีนิสัยรักการแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้นรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย แต่ด้วยใจรักด้านกาพย์กลอน จึงรับจ้างแต่งเพลงยาวและบทดอกสร้อยสักวาไปด้วย อาจเพราะลีลากลอนที่มีลักษณะเฉพาะตัวและคารมที่คมคาย ทำให้สุนทรภู่กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศเมืองแกลง นิราศภูเขาทอง นิราศอิเหนา นิทานเรื่องพระอภัยมณี สุภาษิตสอนหญิง บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “กวีสี่แผ่นดิน” และยังได้รับการยกย่องจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น “บุคคลสำคัญด้านวรรณกรรมของโลก” อีกด้วย
ผลงานของสุนทรภู่ยังคงเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร อีกทั้งยังมีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่าน คือ นิราศเมืองแกลง อีกด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews