29 กรกฎาคม วันภาษาไทยแห่งชาติ
สวัสดีวันภาษาไทยแห่งชาติกันนะทุกคน เกิดมาเป็นคนไทยทั้งที จะลืมวันนี้กันไปได้อย่างไร วันนี้ทำให้นึกถึงตอนสมัยเด็กๆ ที่ในทุกๆ ปีแต่ละโรงเรียนจะมีกิจกรรมมาให้นักเรียนร่วมสนุกกัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งผลงานเข้าประกวดคำขวัญวันภาษาไทย การจัดนิทรรศการ การอภิปรายทางวิชาการ การประกวดแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน เป็นต้น
ซึ่งในทุกๆ ปีวันภาษาไทยแห่งชาติจะตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม มีใครสงสัยไหมว่า วันภาษาไทยแห่งชาตินั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร? วันนี้ iNN ได้หาคำตอบมาให้ทุกคนแล้ว ไปอ่านพร้อมๆ กันเลย
ก่อนที่เราจะไปรู้ที่มาของวันนี้ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่เก่าเเก่ที่สุดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภาษาไทยมีรากฐานมาจากออสโตรไทย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาษาจีน ต่อมาพ่อขุนรามคำเเหงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1826 โดยมีพยัญชนะไทย 44 ตัว (21 เสียง), สระ 21 รูป (32 เสียง), วรรณยุกต์ 5 เสียง คือ เสียงสามัญ เอก โท ตรี และจัตวา
ความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ
เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เป็นเพราะเมื่อวัน 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย และทำให้ผู้ร่วมประชุมครั้งนั้นประทับใจเป็นอย่างมาก
สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า
“เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้… สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก…”
ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบและกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ
วัตถุประสงค์ของวันภาษาไทยแห่งชาติ
- เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
- เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542
- เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
- เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
- เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ
และนี่ก็คือที่มาและความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาติที่ทางทีม iNN ได้นำมาฝากคนไทยทุกคนกัน ภาษาไทยถือเป็นภาษาแห่งชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราคนไทยควรภาคภูมิใจ เพราะบางประเทศไม่มีแม้กระทั่งภาษาที่เป็นของตัวเอง ดังนั้นเราควรอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่ต่อไปกันนะทุกคน สำหรับใครที่ไม่อยากพลาดทุกเรื่องอินเทรนด์ สามารถติดตาม ข่าวหรือ ไลฟ์สไตล์ต่างๆ ได้ที่ iNN Lifestyle
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
ขอขอบคุณเนื้อหาและข้อมูล
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
Wikipedia