ฝังเข็มศาสตร์จีน ช่วยอะไรได้บ้าง?
การฝังเข็ม (Acupuncture) เป็นศาสตร์หนึ่งในการแพทย์แผนจีน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน หากนับหลักฐานที่ค้นพบกันจริงๆก็อาจจะย้อนไปได้ถึงราวๆ 2 พันปีที่ผ่านมา หลักการสำคัญคือ ใช้เข็มขนาดที่เล็กมาก ฝังตามจุดฝังเข็มบนร่างกาย เพื่อปรับสมดุล วันนี้เลยสรุปสิ่งที่เกี่ยวกับการฝังเข็มที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้อ่านกัน
WHO รับรองการฝังเข็ม
อย่างแรกที่อยากพูดถึงเลยคือ การฝังเข็ม นั้นถูกยอมรับว่าเป็นศาสตร์ในการรักษาจริงๆ เพราะหลายคนยังเข้าใจว่าไม่มีมาตรฐานรึเปล่า น่ากลัวรึเปล่า ศาสตร์การฝังเข็มนับเป็นอีกหนี่งการรักษาที่ได้รับการยอมรับระดับสากล อย่าง องค์การอนามัยโลกหรือ WHO เองก็ประกาศยอมรับการรักษาโรคและบรรเทาอาการด้วยวิธีฝังเข็ม
อีกทั้งงานวิจัยล่าสุดพบว่าโรคบางโรค เช่น กรดไหลย้อน ปวดหัว ปวดศีรษะไมเกรน การรักษาด้วยการฝังเข็มให้ผลการรักษาดีเทียบเท่า หรืออาจจะมากกว่าการใช้ยาเพราะไม่ต้องเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยา
ฝังเข็มแล้วช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการได้อย่างไร
หลายคนสงสัยว่าการที่เอาเข็มจิ้มเข้าไปแล้วมันจะรักษายังไง ก่อนอื่นไม่ได้จิ้มเข้าไปตรงไหนก็ได้นะ การฝังเข็มจะฝังให้ถูกจุด ถูกตำแหน่ง โดยมีมากกว่า 349 จุดเลยทีเดียว หากตามหลักจีนก็จะบอกว่า การฝังเข็มเป็นการปรับสมดุล กระตุ้นพลังงาน ทะลวงเส้นลมปราณ หากให้เข้าใจไม่พูดเรื่องพลังงาน การฝังเข็มก็ช่วยกระตุ้นเส้นประสาท กระตุ้นการทำงาน ช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ช่วยในการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
ฝังเข็มเจ็บไหม
จะบอกว่าแทบจะไม่รู้สึกเลย (จากประสบการณ์ของตัวเองด้วย) เข็มที่หมอใช้นั้นมีขนาดบางและเล็กมากๆ (ราวๆ 0.1-0.3 mm) อาจจะมีความรู้สึก เล็กๆตอนเข็มฝังเข้าไป แต่ก็นับเป็นข้อดี ตอนที่เรารู้สึกเจ็บ ร่างกายก็จะตอบสนองโดยกระตุ้นระบบ ส่งการไหลเวียนเลือดไปยังพื้นที่นั้นๆ
การฝังเข็ม ช่วยรักษาโรคอะไรได้บ้าง?
อาการและโรคที่นิยมรักษาด้วยการฝังเข็มมีดังนี้
- กลุ่มอาการปวดและโรคทางระบบกล้ามเนื้อ เช่น Office Syndrome ปวดหลัง ปวดต้นคอ ปวดไหล่ ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน
- กลุ่มโรคระบบประสาท เช่น ชาปลายมือ ปลายเท้า อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคอัมพาตใบหน้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หวัดเรื้อรังและหอบหืด
- กลุ่มโรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ความดันต่ำ
- กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้ เช่น กรดไหลย้อน ท้องผูก อาหารไม่ย่อย
- กลุ่มโรคทางนรีเวช เช่น ปรับสมดุล ปรับฮอร์โมน ประจำเดือนมาไม่ปกติ เข้าสู่วัยทอง
แน่นอนว่าก็มีกลุ่มผู้ที่ไม่ควรฝังเข็มเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เป็นโรคที่ติดเชื้อต่างๆ โรคมะเร็งที่ยังไม่ได้รักษา โรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด สตรีที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดที่มีความผิดปกติของระบบแข็งตัวของเลือด ผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจ
ก่อนการฝังเข็มทุกครั้งให้พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารมาอย่างพอดี ปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง การฝังเข็มถึงจะปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุด และสำหรับใครที่ไม่อยากพลาดทุกเรื่องอินเทรนด์ สามารถติดตามบทความสุขภาพดีๆหรือ ไลฟ์สไตล์ต่างๆได้ที่ iNN Lifestyle
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
ขอขอบคุณข้อมูล