NFT art เรเนซองส์อีกครั้งของวงการศิลปะไทย
หลังจากที่รู้จักกับ NFT ไปแล้วว่า NFT คือตัวซื้อสินทรัพย์ดิจิตอลชนิดหนึ่งที่ไว้จับจ่ายสินค้าบนโลกออนไลน์ ซึ่ง NFT นั้นไม่ได้สร้างประโยชน์แค่การจับจ่ายใช้สอย แต่ NFT เป็นเหมือนประตูบานหนึ่งที่กำลังเปิดให้ความหวังของศิลปินได้กลับมาเต้นอีกครั้ง
ประเทศไทยกับศิลปะหากพูดแค่ผิวเผินก็อาจจะเป็นของที่คู่กันมาตั้งแต่โบราณเหมือนน้ำพริกกับปลาทู ด้วยการสร้างชาติผ่านศิลปะกรรมไทยที่ยังคงหลงเหลืออยู่ตามกำแพงโบสถ์และหลังคาวัดต่างๆ แต่แท้จริงแล้วศิลปินในประเทศไทยกำลังลดเลือนให้หายไปในปัจจุบัน
มีสัญญาณหลายอย่างที่เหมือนบอกเป็นนัยว่าศิลปะในประเทศไทยกำลังถูกเพิกเฉยจนไร้ตัวตนลง ข่าวการยื้อยุดฉุดกระชากที่จะปิดแหล่ไม่ปิดแหล่ของหอศิลป์กรุงเทพฯ จนได้ต่อทุนอีก 10 ปีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงอาชีพจิตรกรที่ถูกมองว่าเป็นศิลปินไส้แห้งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คงเป็นคำตอบได้ดีว่าศิลปะไทยอยู่ในยุคมืด (Dark age) มาอย่างช้านาน และในตอนนี้เราอาจกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเรเนซองส์แล้วก็ได้
ถึงยุคเรเนซองส์ด้วยปากกาคอมพิวเตอร์
เรเนซองส์หรือยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการเกิดขึ้นครั้งแรกในยุโรปหลังจากปลดแอกกรอบความคิดของศาสนจักรได้สำเร็จ เกิดผลงานศิลปะรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นจนคนในยุคนั้นคลั่งศิลปะกันแบบสุดๆ ซึ่งเรเนซองส์อาจอุบัติขึ้นอีกครั้งในประเทศไทยเมื่อต้นเมษานี้เองก็ได้เมื่อหน้าปกหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะถูกแปลงเป็น NFT ประมูลลงบนอินเตอร์เน็ตและจบลงที่ราคาล้านกว่าบาทไทย
NFT ที่รู้จักในกลุ่มนักลงทุนไซเบอร์กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างจนแวดวงศิลปินกลับมาคึกกันทีเดียว ติ๊กชีโร่ นักร้อง (อ่าห๊าาา) ชื่อดังก็ได้ฝากงานวาดของตัวเองเป็น NFT ขายได้มากกว่า 150,000 บาท และจิตรกรอีหลายคนก็เริ่มทยอยเข้ามาในโลกแห่ง NFT ด้วยความหวังแบบเดิมที่ถูกเติมเต็ม นั่นก็คือวันที่ผลงานศิลปะกลับมาสำคัญ สำคัญขนาดที่จับต้องได้ จับต้องได้และหากินได้
NFT เปลี่ยนภาพวาดทุกชิ้นให้เป็น Masterpiece
NFT ไม่ได้แค่เปลี่ยนให้โลกนี้ก้าวล้ำไปกว่าเดิมด้วยเม็ดเงินออนไลน์ แต่มันช่วยเปลี่ยนโลกถึงขนาดให้วงการศิลปะได้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง ผลงานบางผลงานที่วางขายตามตลาดจตุจักรอาจมีคุณค่าทางเม็ดเงินแค่แบงค์เทาๆ แดงๆ ไม่กี่ใบ แต่ในโลกออนไลน์มันมีค่ามากถึงหลักแสนเลยทีเดียว เพราะ NFT ยกระดับงานวาดทุกงานให้กลายเป็น masterpiece แบบชิ้นโบว์แดง
วันชนะ อินทรสมบัติ หรือ Victorior จิตรกรชื่อดังที่เคยฝากผลงานผ่านภาพยนตร์แอนิเมชั่นเก้าศาสตรา ก็ให้ความเห็นเหมือนกันว่า “ตัวเองก็เคยปริ้นภาพขายตามงานต่างๆขายได้แค่ 200-300 บาท ไม่ได้มีมูลค่าเท่าเข้ามาขายใน NFT เพราะ NFT เพิ่มมูลค่าให้ดิจิตอลอาร์ตจนผลงานกลายเป็นชิ้นเดียวในโลก”
และนี่อาจเป็นตัวอย่างของจิตรกรหลายๆคนที่หันมาพึ่ง NFT เพราะบนโลกเสมือนนี้ทุกคนเข้าใจดีว่าคุณไม่ใช่เจ้าพ่องาน pop art อย่าง Andy Warhol ที่จะพิมพ์งานซ้ำๆเท่าไหร่ก็ขายได้ราคาหมด จึงเป็นที่มาของผลงานที่จิตรกรสามารถกำหนดได้ว่างานชิ้นนี้จะมีจำนวนชิ้นบนโลกเท่าไหร่ ยิ่งมากก็ยิ่งถูก ยิ่งน้อยก็ยิ่งแพง
บนโลกออนไลน์ที่เคลื่อนไหวปรู๊ดปร๊าดราวกับรถมาริโอ้คาร์ท กระแส NFT ก็คงมีขึ้นและมีลงล้มหายตายจากเป็นธรรมดา แต่ในช่วงนี้ที่ NFT ยังมีคุณค่าอยู่ก็เหมือนเป็นเครื่องเตือนใจว่ายุคเรเนซองส์ของผลงานไทยยังไม่หมดไป จิตรกรไทยคงภูมิใจที่ไม่ต้องกินข้าวเปล่ามองภาพปลาเค็มเหมือนในแก๊กการ์ตูนสมัยก่อน ทางฝั่งนี้เองก็แอบรอว่าเมื่อไหร่ NFT จะรับซื้องานเขียนบ้างเพราะตอนนี้หิวข้าวจังเลยพี่จ๋า
ติดตามคอนเทนต์เปิดโลก บทความสุขภาพดีๆ และไลฟ์สไตล์โดนๆได้ที่ iNN Lifestyle
ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://www.youtube.com/watch?v=r634tFtVrmI&ab_channel=ThaibunterngThaiPBS
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news